เสริมความเป็นสิริมงคล แก้ชง และเพิ่มพลังใจ ในการขึ้นสนามชีวิตปี 2565 กับ 5 ศาลเจ้า ที่การันตีความขลัง ด้วยอายุอานามที่เก่าแก่สุดในกรุงเทพฯ
สักการะ 5 ศาลเจ้าเก่าแก่สุดในกรุงเทพฯ หนุนนำจิตใจ ให้เข้มแข็ง รับปีฉลู
โดย BLT จะแบ่งความเก่าแก่ ตามประเภทของกลุ่มภาษาชาวจีน 5 กลุ่ม ซึ่งอ้างอิงจาก รายงานการศึกษาศาสนสถาน ประเภทศาลเจ้าในเขตกรุงเทพมหานคร เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนตามกฎเสนาบดีสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ. 2554
ซึ่งศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ แบ่งตามประเภทของ 5 กลุ่มภาษาชาวจีน ได้แก่
ศาลเจ้าจีหนันเมี้ยว – รื้อแล้วสร้างใหม่ พ.ศ. 2499 – กลุ่มจีนฮกเกี้ยน
ศาลเจ้าจีหนันเมี้ยว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางไส้ไก่เดิม ถือเป็นศาลเจ้าทรงคุณค่าที่สุดหลังหนึ่งของชาวจีนฮกเกี้ยนในเมืองกรุง ซึ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ แห่งวัฒนธรรมชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในไทย มาหลายยุคสมัย และเนื่องจากศาลเก่าทรุดโทรม ทั้งบริเวณศาลบางส่วน ยังถูกตัดเป็นถนน ศาลเจ้าจีหนันเมี้ยว จึงถูกรื้อทิ้ง แล้วสร้างใหม่ในบริเวณใกล้เคียง ปี พ.ศ. 2499
ริมคลองบางไส้ไก่เดิม เขตคลองสาน
ขอบคุณภาพ FB : เพจโรงเรียนกงลี้จงซัน
——————–
ศาลเจ้าซําในเก็ง – พ.ศ. 2390 – กลุ่มจีนแคะ
ศาลเจ้าคู่บุญแห่งถนนท่าดินแดง ที่ผู้มีจิตศรัทธาส่วนใหญ่ในเมืองกรุง โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่แถบฝั่งธนฯ รู้จักกันดี และได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง ทั้งจากชาวจีนแคะ จีนแต้จิ๋ว ตลอดจนชาวจีนเชื้อสายอื่น ๆ ในไทย โดยแต่ละวัน ยังมีนักเดินทาง ที่ผ่านไปมาในละแวกท่าดินแดง เข้ามากราบไหว้ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล ให้แก่ตัวเองอยู่เสมอ
ถ.ท่าดินแดง ฝั่งธนบุรี
ขอบคุณภาพ FB : ศาลเจ้าซำไนเก็ง 吞府三奶廟
——————–
ศาลเจ้าบ้านหม้อ – อายุประมาณ 200 ปี – กลุ่มจีนแต้จิ๋ว
ศาลเจ้าสุดขลังของชาวจีนแต้จิ๋วในไทย ซึ่งเดิมทีเป็นเพียงศาลพระภูมิเล็ก ๆ ก่อนก่อกำเนิดด้วยมวลพลังแห่งศรัทธา ของชาวจีนในพระนคร จนกลายเป็นศาสนสถานสำคัญทางประวิติศาสตร์ ที่ผ่านกาลเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ของชาวพระนครมายาวนานกว่า 200 ปี และได้รับความเชื่อจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาสักการะ ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในทุก ๆ ด้านของชีวิต
ถ.บ้านหม้อ เขตพระนคร
ขอบคุณภาพ FB : ศาลเจ้า บ้านหม้อ เล่าปึงเถ่ากง
——————–
ศาลเจ้าแม่ทับทิม – พ.ศ. 2384 – กลุ่มจีนไหหลํา
ความศรัทธาที่อยู่คู่ชาวชุมชนสามย่านมาเนิ่นนานกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งมีหลักฐานกระถางธูปพระราชทาน ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชทานแก่ศาลเจ้าแม่ทับทิม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2454 ทั้งมีตำนานกล่าวขานว่า “เจ้าแม่ทับทิม” นับเป็นเทวดาจีนสำคัญองค์หนึ่งในไทย ที่รู้จักแพร่หลายมาช้านาน จนกลืนกลายเป็นเทพสำคัญองค์หนึ่งของไทย นาม “แม่ย่านาง”
บริเวณสามเสน เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งพระนคร
ขอบคุณภาพ FB : ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานซังฮี้ – จุ้ยโบเนี้ยว
——————–
ศาลเจ้ากงจิ้วถัง – พ.ศ. 2423 – กลุ่มจีนกวางตุ้ง
ศาลเจ้าประจําสมาคมกวางตุ้ง หรือที่เรียกว่า ศาลเจ้ากงจิ้วถัง ศาสนสถานสำหรับชาวจีนกวางตุ้ง ที่มีเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำหน้าที่เป็นคอมมูนิตี้หลัก ในการช่วยเหลือกันของชาวจีนในไทย ที่มาจากมณฑลกวางตุ้ง มาตั้งแต่อดีตกาล ภายในศาลเจ้า จะประดิษฐานรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ที่อัญเชิญมาจากเมีองจีน ซึ่งผู้มีจิตศรัทธา คอยแวะเวียนมาสักการะกันไม่ขาดสาย
ถ.เจริญกรุง เขตบางรัก (ระหว่างซ.เจริญกรุง 23 กับซ.เจริญกรุง 2)
ทั้งนี้ ศาลเจ้าเก่าแก่ และทรงคุณค่าที่สุดของแต่ละกลุ่มภาษาชาวจีน ทั้ง 5 กลุ่ม ส่วนใหญ่จะชํารุดทรุดโทรม เนื่องจากมีอายุการใช้งานมานาน ตลอดจนต้องผ่านการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ยกเว้นศาลเจ้าของไหหลํา และกวางตุ้ง ซึ่งยังคงสภาพของเดิมอยู่
ทำให้การเคารพ และปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่าง ๆ ของศาลเจ้าทั้ง 5 แห่ง ตลอดจนการใส่แมสก์ Social Distancing ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ล้วนเป็นส่วนหนึ่ง ที่สื่อให้เห็นถึงความศรัทธาอย่างจริงใจ ในการเข้ามาสักการะ เสริมความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเรา และคนที่รัก ได้เป็นอย่างดี