Wednesday, December 7, 2022
More

    สานชีวิต ชุมชนนางเลิ้ง

    นางเลิ้ง ย่านเก่าแก่กลางพระนครที่ยังมีเสน่ห์ ทั้งวิถีชุมชนและของอร่อยชื่อดังที่ให้นักชิมได้แวะเวียนไปลิ้มรสเสมอ ตามมาดูกันว่า ชุมชนนางเลิ้งมีอะไรดีให้เราต้องไปเยือน

    ซอกแซกรอบกรุง
    ตลาดนางเลิ้ง เป็นตลาดบกแห่งแรกของไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2442 มีชื่อเดิมว่า “ย่านสนามกระบือ” ต่อมาเรียกย่าน “อีเลิ้ง” ด้วยบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบคลอดเปรมประชากร มีชาวมอญล่องเรือนำตุ่มอีเลิ้งมาวางขาย จนถึงยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่อให้สุภาพขึ้นว่า “นางเลิ้ง”


    เสน่ห์ของย่านนางเลิ้ง นอกจากจะได้เห็นวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่าแล้ว การได้เสาะหากินของอร่อยๆ ก็ล้ำค่าเช่นกัน เพราะคนเก่าย่านนี้อยู่ใกล้ชิดเจ้านายในวังจึงมีการสืบทอดอาหารตำรับชาววังเอาไว้ มีทั้งอาหารคาว-หวานพร้อมพรั่งกระจายอยู่ตามตรอกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ร้านสาคูแม่สอิ้ง” สาคูไส้หมูทำสดๆ ใหม่ๆ “ร้านไส้กรอกปลาแนม” ร้านเก่าแก่ที่ขายไส้กรอกปลาแนมอาหารที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารโบราณ เด็ดที่เครื่องปรุงและส่วนผสม ปลาแนม ไส้กรอกข้าว ไส้กรอกหมู กินแกล้มกับผักกาดหอมหรือใบชะพลูไส้กรอกปลาแนม

    ร้านสาคูแม่สอิ้ง

    ไส้กรอกหมู

    ร้านขนมหวานแม่กวา

    ที่พลาดไม่ได้เลยคือร้านขนมหวาน ซึ่งมีหลากหลายร้านให้เราเลือก จะร้านไหนก็อร่อยเด็ด
    ส่วนร้านอาหาร เราขอแนะนำ “ร้าน ส.รุ่งโรจน์” ร้านเก่าแก่ที่เคียงคู่ตลาดนางเลิ้งมายาวนาน ด้วยรสมือที่ทำมากว่า 50 ปี ทำให้รสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ ทั้งปูอบวุ้นเส้น ผัดผัก เด็ดอยู่ที่เส้นบะหมี่ทำเองกับน้ำซุปกลมกล่อม เป็ดพะโล้ของ ส.รุ่งโรจน์

    เป็ดตุ๋น ร้าน ส.รุ่งโรจน์

    ปูอบวุ้นเส้น ร้าน ส.รุ่งโรจน์

    ยลวิถีคนนางเลิ้ง
    หลังจากอิ่มท้องกันแล้ว ก็ต่อด้วยการเดินชมวิถีชีวิตของคนนางเลิ้ง เริ่มด้วย “วัดสุนทรธรรมทาน” หรือ “วัดแคนางเลิ้ง” ซึ่งเป็นศูนย์กลางแรกเริ่มของคนย่านนางเลิ้ง วัดแห่งนี้มีวิหารหลวงพ่อบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวนางเลิ้งเคารพบูชาเป็นอย่างมาก และเป็นวัดที่ชุมชนนางเลิ้งมาประกอบพิธีทางศาสนารวมทั้งจัดงานประเพณีต่างๆ

    วัดสุนทรธรรมทาน

    จากนั้นเราไปต่อกันที่ “บ้านศิลปะ” บ้านเก่าแก่ของ คุณสุวัน แววพลอย ที่ปรับปรุงและเอื้อเฟื้อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนในชุมชน นอกจากนี้ ครูกัญญา ทิพโยสถ ครูผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับละครชาตรี ยังได้มาร้องรำละครชาตรีให้ฟังแบบสดๆ เลยบ้านศิลปะ

    และเราก็ไปต่อกันที่ “บ้านเต้นรำ” ซึ่งห่างจากบ้านศิลปะเพียงอึดใจเดียว เดิมเป็นโรงเรียนสอนเต้นรำชื่อ “สามัคคีลีลาศ” สถานที่แห่งนี้ถูกปิดไปนานแต่กลับถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชน และเปิดเป็นพื้นที่แสดงศิลปะด้วย

    บ้านเต้นรำ

    ปิดท้ายทริปนี้ด้วยการมาเยือน “บำรุงชาติสาสนายาไทย” หรือ “บ้านหมอหวาน” ร้านขายยาแผนโบราณย่านเสาชิงช้า ตัวอาคารโดดเด่นด้วยการสร้างสไตล์โคโลเนียล เป็นมรดกจาก นายหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2411 ถึง พ.ศ. 2488 บ้านหมอหวาน ตั้งอยู่ซอยเทศา ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร เปิดทำการทุกวัน เวลา 9.00 – 17.00 น.

    บ้านหมอหวาน