Tuesday, May 23, 2023
More

    ต้นไม้-คน-เมือง ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

    เรื่องของต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ที่หักโค่นล้มขวางพื้นผิวการจราจร ซึ่งแต่ละครั้งล้วนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นปัญหาของเมืองที่เกิดมาแล้วหลายครั้ง และยังรอการแก้ไขอย่างถูกวิธีและเห็นผลอย่างยั่งยืน 

    วันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุต้นไม้ใหญ่หน้าอาคารอัลม่าลิงค์ โค่นล้มทำให้เสาไฟหักโค่น 7 ต้น และทับผู้สัญจรบริเวณแยกชิดลมเสียชีวิต จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ พบว่าเป็นต้นลุงสายพันธุ์หนึ่งของต้นไทร สูง 4 เมตร สภาพรากแก้วที่ใช้ยึดลำต้นตายทั้งรากไปจนถึงโคนต้น มีเพียงรากแขนงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2-4 เซ็นติเมตร (ซม.) ลึกจากพื้นดิน 50-60 ซม. เท่านั้นที่ยึดลำต้นอยู่ ดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวปนทรายจึงอุ้มน้ำ เมื่อฝนตกติดต่อกันหลายวันจึงมีความชื้นสูง มีน้ำขังลึก 40 ซม. จากผิวดิน ทำให้การยึดตัวของรากไม่แข็งแรง เมื่อลำต้นโยกและเกิดฝนตกทำให้รากรับน้ำหนักไม่ไหว จึงล้มลงมา


    ถัดมาวันที่ 17 พฤษภาคม เกิดเหตุต้นไม้ขนาดใหญ่ ล้มกีดขวางเส้นทางจราจรในซอยทองหล่อ 53 ท้ายซอยทองหล่อ 9 หลังจากช่วงฝนตกหนักทั่ว กทม. ซึ่งเชื่อว่ายังมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร 

    ตรวจพบต้นไม้เสี่ยงล้มกว่า 1,800 ต้น 
    จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ออกมาระบุว่า ต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่สาธารณะเป็นหน้าที่ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตในพื้นที่ดูแลรักษา ซึ่งต้นไม้ใหญ่ๆ ใน กทม. ส่วนใหญ่รากจะลงไม่ลึก เนื่องจากปลูกหลังจากที่มีการก่อสร้างถนน ซึ่งจะมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อยู่ใต้ดิน ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่ไม่มีรากแก้ว จึงไม่แข็งแรงนัก 

    และจากที่ ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้ 50 สำนักงานเขต และสำนักงานสวนสาธารณะ สำรวจต้นไม้ในพื้นที่ทั้งหมดพร้อมรายงานผลอย่างเร่งด่วน พบว่าต้นไม้ใหญ่ยืนต้นใน กทม.กว่า 3 ล้านต้นนั้น มีต้นไม้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องค้ำยัน 1,811 ต้น ต้องล้อมย้าย/ขุดออก 1,129 ต้น ต้องตัดทอนลดความสูง 175 ต้น ซึ่งในส่วนนี้ กทม.จะเร่งแก้ไขในทันที

    อย่างไรก็ดี ทั้งจากคำชี้แจงและผลการสำรวจต้นไม้ที่ออกมา ทำให้เกิดคำถามจากคนในกรุงเทพมหานครถึงเรื่องของความปลอดภัยในการสัญจรไปมา ที่ต้องเสี่ยงกับต้นไม้ใหญ่ซึ่งปลูกกระจายอยู่ทั่ว 50 เขต รวมถึงตามริมฟุตบาท  ตามถนน และพื้นที่สาธารณะต่างๆ และมีข้อกังวลว่า กทม. จะเร่งแก้ปัญหาด้วยการรีบร้อน ตัด ค้ำ ล้อมย้ายต้นไม้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้หรือเปล่า  

    เครือข่ายต้นไม้ในเมืองเรียกร้องรัฐให้จัดการต้นไม้อย่างเป็นระบบ 
    ทางเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านต้นไม้ในเมืองทั้ง 5 องค์กรใหญ่ จึงออกแถลงการณ์เรื่อง “ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ ให้เกิดระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง” กรณี : ต้นไทรที่ ถ.ชิดลม ล้มจนมีผู้เสียชีวิต โดยขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่ดูแลต้นไม้ในเมือง คือกรุงเทพมหานคร กฟน. กฟภ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการสร้างระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียของประชาชนและประเทศชาติเช่นนี้อีก

    ข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายประกอบด้วย ข้อเรียกร้องในระยะเร่งด่วน คือ 
    1. อย่าด่วนตัดต้นไม้ทิ้งทั้งหมด ตามที่มีบางกระแสเรียกร้อง ซึ่งเป็นการตัดสินใจด้วยความรู้สึก คือ “ความกลัว” สิ่งที่ควรทำคือการแก้ปัญหาด้วย “ความรู้” โดยใช้ศาสตร์ “รุกขกรรม” 
    2. จัดทีมรุกขกรและนักวิชาการ เร่งสำรวจต้นไม้อันตราย (ต้นไม้ป่วย) อย่างเป็นระบบ พร้อมทำสัญลักษณ์ต้นไม้ป่วยให้ประชาชนได้ทราบ และกำหนดแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ประโยชน์สูงสุด 
    3. จัดทีมตรวจรักษาต้นไม้อันตราย โดยมีรุกขกรทำหน้าที่หมอต้นไม้ในการประเมินระดับการรักษา บางต้นอาจใช้การตัดแต่ง บางต้นอาจใช้การค้ำยัน บางต้นอาจต้องปรับปรุงระบบทับราก ยกเว้นบางกรณีที่เกินเยียวยาจริงๆ ถึงมีความจำเป็นต้องตัดทิ้ง
    และข้อเรียกร้องในระยะยาว คือ 
    4. จัดตั้งบริษัท รุกขกรรมนครหลวง โดยเป็นการบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ เพื่อให้เกิดองค์กรที่มีความรู้ทักษะ และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล
    5. กำหนดระเบียบปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลต้นไม้ในเมือง ต้องมีรุกขกรที่ได้มาตรฐาน โดยมีการส่งเสริมการฝึกอบรมรุกขกร พัฒนาระบบควบคุมคุณภาพรุกขกร โดยมีการออกใบรับรองความรู้รุกขกร เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการตัดแต่ง รักษาต้นไม้ของหน่วยงาน ซึ่งเป็นมาตรการสากลที่นานาประเทศใช้กันทั้ง ญี่ปุ่น แคนาดา สิงคโปร์ ฯลฯ 
    6. ควรออกกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในเมือง เพื่อครอบคลุมต้นไม้ใหญ่ในเมือง ทั้งที่อยู่ในการดูแลของภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดมาตรการการคุ้มครองดูแล และเกณฑ์การปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมืองให้มีมาตรฐานตามหลักสากลของโลก (เป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษและสิงคโปร์ทำ)

    ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านต้นไม้ในเมืองทั้ง 5 องค์กรใหญ่ ประกอบไปด้วย เครือข่ายต้นไม้ในเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มบิ๊กทรี สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และโครงการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ยินดีให้ความร่วมมือทั้งในด้านข้อมูล ปฏิบัติการ และการสื่อสารกับภาคประชาชน เป็นการยื่นข้อเรียกร้องไปพร้อมๆ กับการยื่นมือเพื่อเป็นเพื่อนร่วมงาน ให้เกิดการร่วมกันสร้าง “ระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง” เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ เพื่อให้ทุกเมืองในประเทศไทยมีความร่มรื่น ทุกชีวิตได้รับประโยชน์จากต้นไม้ในเมืองในทุกมิติ และประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ของต้นไม้ในเมือง
    ต้องรู้สภาพเมืองและเลือกต้นไม้ให้ถูกกับพื้นที่
    “เครือข่ายบิ๊กทรี” (BIG Trees) หรือกลุ่มอนุรักษ์ “ต้นไม้ใหญ่” วิเคราะห์ว่า การจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต้องเน้นที่การจัดวางผังเมืองที่ดี เป็นระบบ และบังคับใช้อย่างจริงจัง ที่สำคัญต้องรู้จักสภาพพื้นที่แต่ละจุดของเมืองว่าเป็นอย่างไร เพราะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ใช่เพียงแค่ทำสวนสาธารณะ และทำให้มีต้นไม้ใหญ่ด้วยการปลูกอย่างเดียว แต่ต้องดูแลได้ถูกต้องด้วย 

    อีกอย่างคืออย่าผลักภาระการดูแลต้นไม้ให้เป็นแค่หน้าที่ของ กทม. แต่ให้มองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน เช่น กลุ่มบิ๊กทรีทำหน้าที่ในการประสานกับหลายๆ ฝ่าย ในการทำความเข้าใจเรื่องของการดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี มีการเปิดโรงเรียนต้นไม้ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ในงานภูมิทัศน์เมือง ให้แก่ผู้ที่สนใจทำอาชีพรุกขกรหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติงานในพื้นที่จริงได้อย่างถูกต้อง ประชาชนเองก็ต้องช่วยดูแล และมีส่วนร่วม 

    ขณะเดียวกัน ในระดับหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนในการปรับปรุงเมือง ไม่ว่าจะขุดถนน วางท่อระบายน้ำ ปรับปรุงทางเท้า ปลูกต้นไม้ ติดตั้งเสาไฟฟ้าสายโทรคมนาคม สร้างตึก สร้างรถไฟฟ้า ควรที่จะมาวางแผนงานร่วมกัน เพื่อจะได้ทำโครงการไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะการขุดเจาะถนน หรือก่อสร้างแต่ละครั้งก็มีผลต่อความแข็งแรงของดินด้วย 

    แนะสถานที่ต้นแบบรู้ใช้คุณค่าต้นไม้ 
    ที่สำคัญควรมองต้นไม้ให้มีคุณค่ามากกว่าเป็นแค่เครื่องประดับของเมือง หรือแค่ให้ร่มเงา แต่มองให้เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เมืองมีเอกลักษณ์ เช่น ถ้ามีต้นไม้ใหญ่หน้าร้านอาหาร โรงแรม หรือในชุมชน ให้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์ช่วยในการออกแบบให้ต้นไม้กับอาคาร หรือร้านอาหาร มีรูปแบบที่กลมกลืน สวยงาม ใช้เป็นจุดในการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือสร้างเป็นแลนด์มาร์คในย่านชุมชนได้ 

    สถานที่ที่ใช้เป็นต้นแบบในการจัดวาง ใช้ประโยชน์ต้นไม้ร่วมกับอาคารได้เป็นอย่างดีใน กทม. เช่น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ที่ใช้ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ เพื่อให้มีพื้นที่สีเขียว และช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ทำให้ผ่อนคลาย ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์ หรือ เดอะ แจม แฟคทอรี่ อยู่ใกล้กับท่าเรือคลองสาน ที่ปรับปรุงโกดังของโรงงานเก่า โดยทำให้ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในโครงการเป็นเอกลักษณ์ของโครงการกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ  

    ตัวอย่างของป่าไม้ในเมืองสำคัญ 
    ประวัติศาสตร์การปลูกและรักษาต้นไม้ในเมืองมีมายาวนาน ทั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนซึ่งแต่ละประเทศ แต่ละเมืองก็มีกระบวนการในการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน ต้นไม้ และเมืองแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือการส่งผ่านคุณค่าของต้นไม้ และป่าไม้ในเมืองจากประชาชนไปถึงผู้กำหนดนโยบายจนเกิดเป็นการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน 

    เทียบเคียงจากกรณีศึกษาของประเทศต่างๆ เช่น ประเทศอังกฤษ สำนักงานผังเมืองท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ได้ ประเทศเกาหลี เมื่อปี ค.ศ.1995 รัฐบาลมีแผนที่จะสร้างเขื่อนแต่พบว่าในพื้นที่นั้นมีต้นไม้อายุหลายร้อยปียืนตระหง่านอยู่ 1 ต้น จึงมีข้อสรุปว่าจะเก็บต้นไม้ไว้ และสร้างเขื่อนด้วย  จึงดำเนินงานโดยใช้เงินประมาณ 60 ล้านบาท และเวลา 3 ปี ในการก่อสร้างเกาะกลางน้ำให้กับต้นไม้ต้นนั้น

    ประเทศญี่ปุ่น มีการห้ามตัดต้นไม้สูงเกิน 10 เมตร โดยเด็ดขาด และจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยผลกระทบจากแรงระเบิดทำให้ต้นไม้ในกรุงโตเกียวจาก 105,000 ต้น ถูกถอนรากถอนโคนจนเหลือ 42,000 ต้น แต่ด้วยการร่วมมือกันทั้งการปลูกต้นไม้ขึ้นใหม่ พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นฟูต้นไม้บนทางเท้า ทำให้ปัจจุบันเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก  

    ประเทศสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว ทั้งกำหนดผังเมืองชัดเจน ประกอบกับแนวคิดเมืองในสวน (Garden City) ของนายลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรก ที่ยึดหลักการพัฒนาเมืองต้องเอาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง มีบทลงโทษคนตัดต้นไม้ด้วยการปรับเงินสูงมาก มีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ที่ถือเป็นสมบัติชาติ มีรุกขกรประจำเขตดูแลต้นไม้ทั้งในพื้นที่เอกชนและพื้นที่สาธารณะ ทำให้วันนี้เป็นประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก 

    นอกจากนั้น ยังมีตัวอย่างของป่าไม้ในเมืองสำคัญ เช่น ที่รัฐแมรีแลนด์ และนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีองค์กรเอกชนทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่น ประเทศเอธิโอเปีย กรณีการปลูกต้นไม้เพื่อฟืนที่ วอชิงตัน ดี.ซี. ได้รับประกาศยกย่องในบทความจาก Harper’s Magazine ปี 1889 ว่า เป็นเมืองที่มีความงามเกินกว่าประเทศใด จากแนวคิดของผู้ว่าการรัฐอเล็กซานเดอร์ ที่ออกคำสั่งว่า จะต้องมีการปลูกต้นไม้ในเมืองอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 1872 จนกลายเป็นเมืองแห่งต้นไม้ และปัจจุบันมีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลต้นไม้กระจายอยู่รอบเมือง เพื่อทำหน้าที่ดูแลต้นไม้ทั่วเมืองกว่า 2 ล้านต้น

    ย้อนกลับมาที่กรุงเทพมหานคร แม้หลังจากเกิดเหตุต้นไม้ล้มจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ทาง กทม. จะเร่งสำรวจต้นไม้ ระดมกำลังกันแก้ไขปัญหากันแบบปูพรมในทุกเขต แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า กทม. ยังเป็นเมืองที่ขาดการบริหารจัดการที่ดี ทั้งที่เรื่องต้นไม้ล้มเกิดมาแล้วบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน แต่ก็ยังปล่อยให้เกิดขึ้นอีก 

    แต่การขับเคลื่อนเมืองเพื่อให้เป็นมหานครแห่งความน่าอยู่อย่างยั่งยืน จะอาศัยแค่มีนโยบายเป็นตัวกำหนดคงไม่ได้ และไม่ใช่เป็นแค่หน้าที่ของ กทม. ในการดูแลต้นไม้เท่านั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ ต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันวางแผนและทำงานไปพร้อมกันอย่างจริงจัง

    ในฤดูฝนปีต่อๆ ไป จะได้ไม่ต้องมาตั้งคำถามกันอีกว่าเมื่อต้นไม้ล้ม ใครต้องรับผิดชอบ และหาวิธีให้ประชาชน หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ร่วมกันปลูกต้นไม้ ร่วมกันดูแลต้นไม้ ทั้งในพื้นที่ของตัวเอง และในพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อรับสิทธิพิเศษการลดหย่อนภาษีจากมาตรการด้านภาษีที่ กทม. กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นแรงจูงใจในการช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ให้ร่วมกันทำด้วยความเต็มใจ

    ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันระหว่าง “คน-ต้นไม้-เมือง” ได้อย่างปลอดภัย เป็นมิตร และเกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน 


    พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
    “ต้นไม้ในเมืองอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก  เพราะต้นไม้กว่าจะโตต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะโตเป็นต้นใหญ่ได้ การตัดต้นไม้แบบบั่นยอด ตัดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ หน่วยงานที่รับผิชอบควรมี วิธีการดูแลการตัดต้นไม้อย่างมีศิลปะ เพื่อจะอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ไว้ วันนี้เราเวนคืนที่สำหรับทำถนน ทำทางรถไฟ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการปักเสาไฟฟ้า หรือปลูกต้นไม้อะไรต่าง ๆ ก็ปลูกเข้าไปพื้นที่ก็เล็ก พอโตก็ต้องตัดทิ้ง นั่นแหละปัญหาต้องแก้ตั้งแต่ต้นเหตุว่าจะต้องทำอย่างไรให้ลงตัว อาจจะต้องมีการจ้างคนตัดแต่งต้นไม้ ให้สวยงามมีศิลปะ ไม่ใช้จ้างใครก็ได้มาตัดต้นไม้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีคนที่เรียกว่า รุกขกร ออกแบบตัดให้เป็นศิลปะ มีช่องให้สายไฟลอดได้อย่างไร”

    พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน 
    รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) 

    “กทม.จะจัดตั้งคณะกรรมการ มีผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน และมีตัวแทนจากสำนักคลังและสำนักสิ่งแวดล้อมเป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่กำหนดนโยบายการปลูกและดูแลต้นไม้พื้นที่กรุงเทพฯ และ มีแนวคิดเรื่องมาตรการจูงใจสำหรับภาคเอกชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว คือ หากภาคเอกชนรายใดปลูกต้นไม้และสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มได้ จะได้รับการลดหย่อนภาษีโรงเรือน โดยคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปี 2562 โดยเอกชนรายใดที่มีพื้นที่รกร้างแล้วปล่อยทิ้งไว้ จะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก แต่หากใช้มาตรการดังกล่าว นอกจากจะลดหย่อนภาษีได้แล้ว ต้นไม้ที่ปลูกยังสามารถประเมินเป็นทรัพย์สินสำหรับการออมได้ แต่ต้องดูแลพื้นที่ด้วย โดยสำนักงานเขตจะส่งเจ้าหน้าที่รุกขกรไปให้ความรู้ ส่วนจำพวกพืชผักสวนครัวอยู่ในการพิจารณารายละเอียดว่าเข้าข่ายมาตรการหรือไม่ซึ่งจะกำหนดแนวทางดำเนินการและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป” 

    นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง 
    ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. 

    “หลังจากนี้สำนักสิ่งแวดล้อม โดยนักวิชาการและรุกขกรจะลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อประสานงานกับสำนักงานเขต ว่าพื้นที่ใกล้บ้านเรือนประชาชนบริเวณใดที่ต้องเร่งแก้ไขและปรับปรุงก่อน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ได้กำชับให้ดำเนินการเชิงรุก คือทำทันที ซึ่งต้องตรวจสอบและต้นไม้แต่ละต้นจะใช้ การตัด การโค่น หรือล้อมย้าย จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม นอกจากนี้ กทม.และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางปฏิบัติงานที่เหมาะสมยิ่งขึ้น หากประชาชนพบเห็นต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการโค่นล้มสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กทม. 1555” 

    ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ   
    ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

    “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 มุ่งเน้นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนอย่างยั่งยืน แต่ตอนนี้ผลวิจัยจากเรื่อง “ป่าในเมืองกับความยั่งยืน สู่ไทยแลนด์ 4.0” พบว่า คนเมืองมีความต้องการพื้นที่ป่าในเมืองสูง แต่ยังไม่เข้าใจแนวคิดป่าในเมือง จึงต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแนวคิดนี้ รวมถึงการมีองค์กรต้นแบบที่มีระบบการจัดการป่าในเมืองที่เป็นรูปธรรม”  

    จักรพันธ์ ตรวจมรคา  
    ผู้แทนกลุ่ม Big Tree ProJect  

    “อีกเรื่องที่ควรปรับแก้คือ เรื่องการทำข้อกำหนด หรือทีโออาร์ ในการจ้างให้ดำเนินการตัดต้นไม้ ให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง เพราะผู้ที่รับจ้างตัดต้นไม้อาจจะเข้าใจและมีความรู้ที่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะติดในเรื่องของทีโออาร์ที่อาจจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างออกไป หากทำถูกวิธีของการตัดแต่งดูแลต้นไม้ แต่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในทีโออาร์ จะเป็นปัญหาต่อตัวผู้ปฏิบัติ กลายเป็นทำผิดเงื่อนไข การตัดต้นไม้จึงออกมาไม่ได้คุณภาพ”

    นายประลอง ดำรงค์ไทย 
    ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะโฆษก ทส.

    “หลังเกิดเหตุรุกขกรของกรมป่าไม้ได้เข้าไปตรวจสอบร่วมกับ กทม. แล้ว สิ่งแรกที่ กทม.และตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ต้องเร่งดำเนินการคือ ตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในจุดเสี่ยงที่มีประชาชนสัญจรไปมา โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีขนาด 1 คนโอบ หรือเส้นวงรอบ 200 ซม.ขึ้นไป ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ถ้าอยู่ในชุมชนเมือง ต้องปรับสมดุลของระบบเรือนยอดให้สมดุลกับระบบราก ไม่ให้มีเรือนยอดมากเกินไป หรือต้นไม้เอน ก็ต้องปรับให้สมดุลกับระบบราก ต้องดูระบบดินว่าอมน้ำมากเกินไปหรือไม่ หากอมน้ำมากต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะถึงแม้ต้นไม้ปลูกด้วยกล้าไม้ มีรากแก้ว แต่หากระบบดินและน้ำมีปัญหาก็อาจทำให้รากเน่าและโค่นล้มได้ หากสำรวจขนาดและได้จำนวนต้นไม้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว กรมป่าไม้จะได้เข้าไปช่วยแก้ไข ปรับสมดุลหรือฟื้นฟูต้นไม้ที่มีปัญหาต่อไป”

    [English]
    “Growing” Dilemma of Trees in Bangkok

    As the metropolis of Bangkok remains far from claiming the title of ]“green city”, its residents and visitors are faced with the dilemma of the need to grow more trees and the danger of tree failures. In May alone, at least one was killed by a fallen banyan tree in the city’s bustling Chidlom area after days of heavy rains weakened conditions around its already-unstable roots.

    The Bangkok Metropolitan Administration said that most large trees in the Thai capital do not really have firm stability due to the absence of taproots or the fact that other roots couldn’t reach deeply into the ground since most were blocked by existing public utility systems.  The BMA’s latest survey showed 1,811 of some three million trees in Bangkok are at risk of failure. 

    Experts, including the BIG Trees group and the Thai Association of Landscape Architects, have called on the government and related agencies to systematically adopt the practice of arboriculture, set up an official body and introduce regulations and laws to ensure an efficient management of trees, just like in other civilized countries, in order for not only Bangkok but the whole of Thailand to truly and safely benefit from all aspects of trees.