“จากการมีส่วนร่วมของโครงการ ได้รับความเห็นชอบจากชุมชน ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ เกือบ 100% และจากรายงานสรุปผลการประชุมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ทุกภาคส่วนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่”
ข้อความข้างต้นเป็นข้อมูลที่ สำนักการโยธา กทม. ใส่ไว้ในวิดิทัศน์โครงการจ้างที่ปรึกษา สำรวจและออกแบบสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์-ท่าศิริราช และยังเป็นหลักการที่ กทม. ยึดเป็นแนวทางเดินหน้าโครงการ ด้วยเหตุผลที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ จนนำมาสู่การประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคมที่ผ่านมา
ซึ่งทำให้มีคำถาม ทั้งจากนักวิชาการ ผู้เชียวชาญด้านวิศวกรรม ตัวแทนจากภาคสังคม และประชาชนตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสะพานที่ออกมาดูไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการว่าจ้างที่ปรึกษา 50 ล้านบาท และงบลงทุนโครงการอีกกว่า 1,700 ล้านบาท, กทม.ดำเนินโครงการตามขั้นตอนที่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ กทม. ได้ศึกษาผลกระทบต่อวิถีชีวิต ต่อสถานที่โดยรอบ และสิ่งแวดล้อมของโครงการชัดเจนหรือไม่ รวมถึงมีคำถามด้วยว่าสะพานแห่งนี้จะมีประโยชน์ต่อประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้พิการ ผู้ป่วยหรือพ่อค้าแม่ขายมากกว่ากัน ที่สำคัญคือได้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึง และมีความจำเป็นที่จะต้องมีสะพานคนเดินข้ามแห่งนี้หรือไม่
จากข้อกังขามากมาย นายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. จึงออกมาชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต กทม. พื้นที่ที่ 2 ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าถึงสะพานพระราม 3 แผนงานที่ 12 งานพัฒนาสะพานคนเดิน (Pedestrain Bridge) เพื่อเป็นสะพานคนเดิน ทางจักรยาน และทางผู้พิการ ซึ่งได้สำรวจออกแบบ โดยคำนึงถึงวิถีวัฒนธรรมไทย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ทัศนียภาพโดยรอบ และมีความเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะดวก ปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของ กทม.
สอดคล้องกับแผนแก้ไขปัญหาการจราจรรอบโรงพยาบาลศิริราช และเพิ่มช่องทางการรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลศิริราชได้สะดวกรวดเร็วขึ้น โครงการมีความเชื่อมโยงกับโครงข่ายการสัญจรทางบกและโครงข่ายรถไฟฟ้า ประกอบด้วย
1. โครงการต่อเชื่อมสะพานพระราม 8 กับถนนพรานนก – ถนนพุทธมณฑลสาย 4
2. งานขยายถนนอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้น – ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช
3. งานขยายผิวจราจร สร้างทางกลับรถ ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์
4. งานปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณถนนริมคลองบางกอกน้อย
5. งาน Sky Walk และทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
6. โครงการสะพานข้ามทางแยกทางรถไฟ
7. งานสร้างทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย
8. งานขยายสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย
9. โครงการสะพานข้ามทางแยกเลี้ยวขวา จากถนนจรัญสนิทวงศ์ เข้าถนนบางขุนนนท์
10. โครงการถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4
11. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
12. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม
13. เส้นทางการเดินเรือของเรือด่วนเจ้าพระยา และ
14. เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์
ส่วนข้อสังเกตงบประมาณโครงการ 1,700 ล้านบาท กับความคุ้มค่าการลงทุน ยืนยันว่าได้ศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแล้ว มีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 17.26% ต่อปี ถือว่าเป็นโครงการที่ควรพิจารณาให้เกิดขึ้น และมีผลดีต่อนักท่องเที่ยว สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางต่อคน-เที่ยวที่ 8.5 นาที คิดเป็นค่าใช้จ่าย 6.375 บาท/คน-เที่ยว และยังมีประโยชน์ด้านการจ้างงาน ประโยชน์จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ส่งเสริมเส้นทางคนเดินและทางจักรยานท่องเที่ยว
ขณะที่นายไกร ตั้งสง่า กรรมการสภาวิศวกร แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ผมคิดว่าเป็นโครงการที่ไม่ควรทำ โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโครงการ และได้มีการคุยกันในแวดวงวิศวกรก็ไม่ได้คัดค้านการพัฒนาโครงการ เพียงแต่อยากให้ กทม. ทบทวนให้เหมาะสม พิจารณาให้รอบด้าน หากดูจากพื้นที่รอบข้างในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งสถานที่ราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด โบราณสถาน ที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ สะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม. ทำแล้วจะกลายเป็นอณุสรณ์สถานที่ไม่เข้ากับพื้นที่ ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น และหวั่นเกรงว่าโครงการจะมีผลกระทบต่อธุรกิจเรือโดยสารข้ามฟาก ที่นับเป็นเสน่ห์ของ กทม. ที่ควรรักษาไว้ อีกทั้งเห็นว่ายังไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำในตอนนี้
“หากกรุงเทพมหานครจะทำจริง ต้องตอบคำถาม 3 ข้อนี้ให้ชัด
1.ได้ถามคนกรุงเทพฯ หมดแล้วหรือยัง หากถามแล้วทำไมจึงรู้เรื่องกันไม่ทั่วถึง
2.จุดที่จะก่อสร้างโครงการเหมาะสมแล้วจริงหรือ ได้มีการศึกษาพื้นที่จุดอื่นเพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจนแล้วหรือไม่ และ
3.การออกแบบโครงการ ทำไมจึงออกมาแบบเดียว และไม่น่ามอง เรื่องแบบสะพานไม่ควรให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสิน แต่ควรที่จะเปิดกว้าง ให้มีการประกวดออกแบบ เปิดเผยต่อสาธารณะชน เปิดกว้างให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้ได้ความคิดที่หลากหลาย สื่อถึงความหมายที่เข้ากับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะทำให้ได้แบบที่ออกมาดีที่สุด ทำไม กทม.ไม่ทำ” นายไกรกล่าว
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องติดตามกันว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จะเข้าหูผู้บริหาร กทม. และจะมีการทบทวนโครงการตามข้อทักท้วงจากหลายภาคส่วนหรือไม่ หรือจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นเพียงพิธีการหรือขั้นตอนที่เลือกฟังเพียงแค่ส่วนที่เห็นด้วย ไม่ใช่การเปิดกว้างเพื่อรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างทั่วถึงตามนโยบายสวยหรูที่เคยประกาศไว้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
“เรื่องยังมาไม่ถึงรัฐบาล ได้ตรวจสอบแล้วยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น เป็นแนวคิดที่ทำกันมาแต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะทำได้เลย ถึงจะคิดแล้วแต่ทำไม่ได้ก็คือไม่ได้ วันนี้ความคิดเห็นของประชาชนไม่เห็นด้วยเยอะแยะ ผมเองก็ยังไม่มีความเห็น มันจะดีหรือไม่ดียังไม่รู้ ประชาชนก็ต้องไปว่ากัน จะคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าเป็นไปได้หรือไม่ ไปดูนะ”
ไกร ตั้งสง่า กรรมการสภาวิศวกร
“กทม.ชอบทำแบบเงียบๆ แล้วอยู่ๆ ก็จะโผล่โครงการขึ้นมา มันเป็น WANT ไม่ใช่ NEED ของ กทม. ซึ่งยังมี NEED จริงๆ ที่ กทม.ควรต้องทำมากกว่า คือเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง เรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องถนน ต้นไม้ ความสะอาด โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ กทม.พยายามทำอยู่นี้ ทำมาแล้วจะกลายเป็นวัตถุมงคล เป็นโครงสร้างที่ดูน่าเกลียดมากกว่ากลมกลืนกับพื้นที่ และใช้งบประมาณเกินจำเป็น แต่เพราะเขาต้องการจึงจะทำยังไงก็ได้เพื่อให้ได้ทำ ถ้า กทม.เคารพในประชาชนคนกรุงเทพฯ ก็ต้องคิดตามคำถาม 3 ข้อที่ผมถามและคิดถึงหน้าที่หลักที่ต้องทำเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
[English]
Criticisms Mounted against Bangkok’s New Pedestrian Bridge Project
The Bangkok Metropolitan Administration’s plan to construct the Tha Prachan-Siriraj pedestrian bridge for the convenience of people continues facing mounting criticisms from various groups.
While the BMA’s Department of Public Works said that the project has gone through three public hearings, which found most people would like to see a new bridge, there remain several unclarified doubts from academics, engineering experts, the civil society and the public regarding the initiation process of the project, the study about the bridge’s impacts on nearby residents and landscapes, and the beneficiaries of the project.
Director of the Public Works Department, Mr. Nat Srisukontanun, affirmed that the new bridge, which is set to cost over 1.7 billion baht, is a part of the BMA’s development project along the banks of Chao Phraya River with consideration already given to the needs of pedestrians and cyclists, Thai culture, environmental impacts and surrounding landscapes.
Mr. Nat also stated that the bridge offers an economic internal rate of return of 17.26% per annum and will help reduce the traveling time per person per direction by 8.5 minutes while providing job opportunities and promoting tourism.
Still, member of the Council of Engineers, Mr. Krai Tangsanga, asked the City Hall: 1) Has the BMA asked all Bangkok residents if they want this new bridge?, 2) Where is the report on the comparison of the location choices for the construction?, and 3) How could there be only one design?
These are only some of the many questions brought up by concerned parties but it remains to be seen if the BMA executives will listen to these calls and take any action to boost public trust.