ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งคู่บ้านคู่เมืองที่ดูไม่มีพิษภัยอย่างเสาไฟฟ้าที่ตั้งอยู่เฉยๆ ริมทาง จะสามารถเป็นเหตุคร่าชีวิตผู้สัญจรผ่านไปมามากมายบนท้องถนนได้ อย่างเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ที่ต้นไม้ล้มพาดเสาไฟฟ้า ทับผู้ขับขี่จักรยานยนต์บนถนนชิดลมจนเสียชีวิต นอกจากด้านความปลอดภัยแล้ว ปัญหาเสาไฟฟ้าที่ละลานตาก็ถูกนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำไปวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมถ่ายรูปราวกับเสาไฟฟ้าเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของบ้านเรา
แต่ในปัจจุบันมีพื้นที่ที่ดำเนินการย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 41.9 กิโลเมตร โดยมุ่งเน้นใจกลางพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และบริเวณสถานที่สำคัญ ได้แก่ โครงการสีลม โครงการจิตรลดา โครงการปทุมวัน โครงการพญาไท โครงการพหลโยธิน โครงการสุขุมวิท และโครงการราชวิถี
แน่นอนว่า ทุกคนอยากเห็นมหานครที่มีทัศนียภาพสวยงาม ไร้สายไฟระเกะระกะทั่วเมือง แต่การนำสายไฟฟ้าอากาศลงใต้ดินมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เฉลี่ยกิโลเมตรละ 300-400 ล้านบาท
พื้นที่ที่เลือกจึงต้องเป็นพื้นที่ที่ทำแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีเกณฑ์ดังนี้
1) พื้นที่ตามแนวถนนสายหลัก ที่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
2) พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าและสาธารณูปโภค และ
3) พื้นที่เศรษฐกิจกลางเมืองและสถานที่สำคัญ
สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินภายใต้การดำเนินงานของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีระยะทาง 172.7 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ
มีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ รวม 45.4 กิโลเมตร ได้แก่ ถ.ราชปรารภ ถ.ศรีอยุธยา ถ.โยธี ถ.เพชรบุรี ถ.รัชดาภิเษก ถ.เทียมร่วมมิตร ถ.พระราม 4 ถ.พระราม 3 ถ.นราธิวาสราช-นครินทร์ ถ.สาธุประดิษฐ์ ถ.สาทร ถ.นางลิ้นจี่ และโครงการเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 1 ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร
ยึดโยงมาตรฐานสากล
ที่ผ่านมา หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้จัดการกับสายไฟที่เกะกะอยู่บนเสาทั่วเมือง โดยการไฟฟ้านครหลวงเริ่มนำสายไฟลงดินมาตั้งแต่ 2527 และทำต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นผลทันตา เพราะเวลากว่า 30 ปี มีการรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าเสร็จแล้ว รวมระยะ 41.9 กิโลเมตร เท่านั้น
เมื่อกลางปีที่ผ่านมา บิลล์ เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์โพสต์รูปเสาไฟฟ้าในเมืองไทย ลงเฟซบุ๊กและวิจารณ์ถึงเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานที่บกพร่องของไทยในพื้นที่กรุงเทพ มหานครที่ทำให้ประชาชนลักลอบเอาอุปกรณ์บางอย่างเชื่อมกับกระแสไฟฟ้าหลัก เพื่อนำเข้าไปใช้ในบ้านของตัวเอง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแสว่า เพราะการวิจารณ์จากเจ้าพ่อไอที รัฐบาลไทยจึงเร่งดำเนินการเพื่อให้เทียบชั้นกับระดับโลก
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการก็ดูจะเห็นผลเร็วขึ้น กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการในการย้ายสายสื่อสารลงใต้ดินพร้อมกับจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกำหนดแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจากเดิมที่กำหนดไว้ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2559 – 2568) เพื่อการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง สร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้แก่มหานคร
ล่าสุด การไฟฟ้านครหลวง ดำเนินการถอนเสาไฟฟ้าและย้ายสายสื่อสารลงใต้ดินบริเวณ ถ.พหลโยธิน ซึ่งเป็นพื้นที่จำหน่ายกระแสไฟฟ้าโดยระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มรื้อถอนเสาไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ถึง 30 ก.ย. 2560
แบ่งการรื้อถอนออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มจากห้าแยกลาดพร้าว บริเวณหน้าธนาคารทหารไทยจนถึงคลองบางซื่อ ระยะที่ 2 ถนนประดิพัทธ์ ระยะที่ 3 ถนนบางซื่อถึงซอยพหลโยธิน 7 และระยะที่ 4 ซอยพหลโยธิน 7 ถึง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สำหรับสายสื่อสารที่มุดลงใต้ดินนั้น จะนำไปรวมกับสายไฟฟ้าซึ่งมีการวางระบบแนวท่อร้อยสายรองรับไว้แล้ว อยู่กลาง ถ.พหลโยธิน ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยสายสื่อสารแต่ละชนิดจะถูกดันเข้าไปในช่องเล็กๆ ภายในท่อลอด ซึ่งมีหลายขนาดขึ้นอยู่กับจำนวนสายสื่อสารมากน้อยแค่ไหน
ส่วนเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนออกมานั้น แต่ละต้นยาว 10 เมตร รวมแล้ว มีจำนวนกว่า 100 ต้น ทาง กฟน.จะไม่นำกลับมาใช้ใหม่ โดยได้รับการประสานจาก กทม. ขอเสาไฟฟ้าเก่าเพื่อนำไปใช้ปักเป็นแนวผนังกันน้ำทะเลกัดเซาะในพื้นที่ชายทะเลเขตบางขุนเทียน ซึ่งกำลังประสบปัญหาถูกน้ำทะเลกัดเซาะอยู่ในขณะนี้
ผลกระทบต่อประชาชนระหว่างดำเนินการ
ปัญหาใหญ่ที่ทุกหน่วยงานจะมองข้ามไปไม่ได้เลย คือผลกระทบต่อประชาชนระหว่างดำเนินโครงการ อย่างโครงการนนทรี ซึ่งเป็นพื้นที่ล่าสุดที่ กฟน. นำสายไฟฟ้าอากาศลงใต้ดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2563 มีระยะทางการก่อสร้างรวม 8.3 กิโลเมตรประกอบด้วยเส้นทาง ดังนี้ 1) ถนนสาธุประดิษฐ์ 2) ซอยอนุมานราชธน 3) ซอยสว่างอารมณ์ 4) ถนนเลียบทางด่วนเฉลิมมหานคร 5) ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 6) ถนนสาทร และ 7) ถนนนางลิ้นจี่ ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างอาจส่งผลกระทบบางส่วนกับประชาชนในพื้นที่
โดยในแต่ละพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการมหานครไร้สายนี้ จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อชี้แจงข้อมูลสร้างความรับรู้เข้าใจแก่ประชาชน และได้จัดให้มีศูนย์ประสานงานของ กฟน. ในบริเวณพื้นที่ของโครงการฯ พร้อมทั้งมีการสร้างทางเดินชั่วคราว และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
ขณะที่บริษัทผู้รับจ้างจะลงพื้นที่แจ้งข่าวแก่ประชาชนล่วงหน้า 7 วันก่อนดำเนินการ พร้อมประสานกับ กสทช. ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน จากนั้นจะทำการรื้อเสาออก
แม้ว่าต้นทุนระบบสายไฟฟ้าใต้ดินจะแพงกว่าระบบสายอากาศ เฉลี่ยกิโลเมตรละ 300-400 ล้านบาท ส่วนระบบสายไฟอากาศอยู่ที่หลักสิบล้าน แต่สิ่งที่ได้คือความคุ้มค่าของการแบกรับภาระไฟฟ้า และมีไฟเพียงพอต่อการจ่ายให้ประชาชน
อีกทั้งก็มิอาจปฏิเสธเรื่องความสวยงาม ที่จะทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นเมืองไร้สาย สู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน เป็นเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวมาเยือน และส่งเสริมชีวิตให้แก่คนเมือง
ชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่า กฟน.
“ประโยชน์ที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลังจากโครงการแล้วเสร็จคุ้มค่าแน่นอน นอกจากจะทำให้ทัศนียภาพในพื้นที่โครงการสายใต้ดินมีความสวยงาม ส่งเสริมการเป็นเมืองท่องเที่ยว และกฟน.จะสามารถจ่ายไฟให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นลูกค้าเดิมและที่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งเสริมนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ”
ชัยภัทร สุขไพบูลย์วัฒน์ วิศวกรไฟฟ้า 10 ฝ่ายบริหารโครงการ กฟน.
“โครงการนนทรีเป็นโครงการที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อปรับทัศนียภาพของกรุงเทพฯ ให้สวยงาม โดยที่ผ่านมา กฟน. ได้ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงข้อมูลสร้างความรับรู้ เข้าใจแก่ประชาชน พร้อมทั้งมีการสร้างทางเดินชั่วคราว และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน”
[English]
When Bangkok’s Tangled Overhead Wires Start to Disappear
After over three decades, the time that residents of Bangkok and nearby provinces will stop seeing tangled overhead wires is nearing.
The Metropolitan Electricity Authority has already revised its plan to bring many of the electricity and telecommunications cables and wires underground in five years, instead of 10 years, in a bid to improve the landscape of Bangkok, Nonthaburi and Samut Prakan and to enable residents of affected area to enjoy uninterrupted power supply.
As the moving of tangled wires and cables from the top of poles to underground comes at a relatively high cost of between 300 million baht and 400 million baht per every one kilometer, the areas where the project would be implemented must consider three factors; the expected surge in demand for electricity in the future, the existing or planned electric rail routes, and the economic significance of the chosen zones.
Under its plan, the MEA will clear up a distance of 172.7 kilometers and, so far, the project is already underway on various streets, with a total reach of 45.4 kilometers — a considerably impressive speed when compared with 41.9 kilometers the city’s power producer has achieved in the past 30 years or so.
The acceleration of the project execution must be credited to Mr. Bill Gates’ 2016 Facebook posting of a photo of Bangkok’s messy wires hanging on concrete poles, which apparently drove the government to move fast to make Thailand’s capital a truly ASEAN metropolis and a world-class city, where the quality of life of city dwellers is more refined and global travelers can enjoy their visits more.