ผลการจัดอันดับเมืองจักรยานปี 2019 ชี้ กรุงเทพฯ ติดอันดับ 88 จาก 90 เมืองทั่วโลก มีสัดส่วนผู้ใช้จักรยานคิดเป็น 0.25% ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่จักรยานไม่เป็นที่นิยม เพราะเล็งเห็นว่า การขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ยังไม่ปลอดภัย
แต่สำหรับ โจ้-ชัยยุทธ โล่ธุวาชัย และ กั้ง-พงศธร ละเอียดอ่อน สองผู้ก่อตั้ง “Bike in the City ปั่นรักษ์พิทักษ์เมือง” พื้นที่แบ่งปันเรื่องราวอันน่าสนใจเกี่ยวกับการสัญจรด้วยจักรยานสำหรับคนเมือง เขามองว่า ไม่ว่าจะขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือขับรถยนต์ ล้วนมีกฎจราจรเดียวกัน ถ้าไม่ฝืนกฎจราจรก็ปลอดภัยแล้วระดับหนึ่ง
ชวนคุยกันในบรรยากาศสบายๆ ท่ามกลางต้นไม้เขียวขจี และสำรวจเส้นทางจักรยานเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา บริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นเส้นทางจักรยานเฉพาะ จากถนนพระราม 9 ถึงถนนรามอินทรา ระยะทาง 24 กิโลเมตร
จุดเริ่มต้น Bike in the City
เรามองเห็นปัญหาการเดินทางในเมือง ซึ่งมีผลกระทบทั้งระบบ เชื่อมโยงทั้งสภาพเศรษฐกิจ การใช้ชีวิต สุขภาพ อาหาร สารพัดสิ่ง เราจึงเปลี่ยนชีวิต ตัวเองด้วยการทำลายมายาคติและภาพลวงตาของระยะทาง อย่างถ้าจากลาดพร้าวไปสยามแค่ 8 กิโลเมตร แต่พออยู่บนถนนคุณจะรู้สึกว่าไกลมาก เพราะบวกระยะเวลารถติดเข้าไปอีก
เราสร้าง Bike in the City ขึ้นมาเพื่อเป็นอีกขาหนึ่งที่รวมคนมีแนวคิดเดียวกันไว้ เราต้องการให้เป็นพื้นที่แชร์ประ-สบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้นักปั่น รวมถึงอยากลบมายาคติเก่าๆ เช่น เมืองไทยอากาศร้อน มีมลพิษ ถนนอันตราย ซึ่งถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ก็อยู่ร่วมกับสิ่งนี้ได้
คำแนะนำสำหรับคนที่กังวลเรื่องอันตรายบนท้องถนน
ผมมองว่า อันตรายคือความรู้สึก เพราะทุกอย่างที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยก็อันตรายทั้งนั้น ฉะนั้นเราต้องรู้จักดีลกับสถานการณ์ให้เป็น อย่างบนถนน ไม่ว่าจะขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือขับรถยนต์ ล้วนมีกฎจราจรเดียวกัน ถ้าเราไม่ฝืนกฎก็ปลอดภัยแล้วระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นพื้นฐานคือ ทักษะเบื้องต้นของการขับขี่ คุณต้องรู้จักยานพาหนะของตัวเอง ตรวจเช็กสมรรถภาพรถ ผ้าเบรค ล้อ ต้องบำรุงให้ปลอดภัย ถัดมาคือเรื่องเทคนิค ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์และคำแนะนำจากผู้รู้ เช่น เมื่อต้องผ่านเส้นทางลาดชัน ทางคดเคี้ยว มีหลุม หรือการจราจรหนาแน่น ต้องปั่นด้วยความเร็วระดับใดและทรงตัวอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งเมื่อคนมาปั่นแล้วไม่รู้ทักษะพื้นฐานก็อาจเกิดอันตรายได้ ฉะนั้นต้องฝึกฝน พวกเราปั่นกันมากว่า 10-15 ปี ยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลยสักครั้ง
ความประทับใจเมื่อปั่นในเมือง
ได้เจอ Hidden Place ซึ่งถ้าใช้รถยนต์จะไม่มีโอกาสได้เจอ อย่างปั่นเลียบคลองแสนแสบก็จะเห็นชุมชนเก่าๆ กราฟิตี้แปลกๆ บรรยากาศโลคอล หรือในย่านเมืองเก่า มีร้านอาหารชื่อดัง ผัดไทยประตูผี ถ้าขับรถยนต์ไปคุณไม่มีทางได้กินแน่นอน เพราะไม่มีที่จอด ค่าที่จอดแพง แต่ถ้ามีจักรยานคุณปั่นไปที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้
จำเป็นต้องมีไบค์เลนหรือไม่?
ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามาช้านาน ทั้งเรื่องงบประมาณ นายทุน ทำให้ทุกวันนี้เรายังเห็นถนนไม่เรียบ ขรุขระ เป็นหลุ่มบ่อ เหล่านี้ประชาชนอย่างเราทำได้คือปั่นจักรยานด้วยความระมัดระวัง เมืองไทยไม่มีทางทำไบค์เลนได้ทุกถนน เพราะไม่มีประเทศไหนทำได้เหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรให้ถนนเป็นเส้นทางสำหรับคนเดินเท้าและจักรยานด้วย ไม่ใช่ทำถนนเพื่อรถยนต์เพียงอย่างเดียว