พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง “การบูรณาการงานพัฒนาคุณภาพชีวิต กับการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน” และประกาศนโยบาย “มหานครปลอดภัย ปลอดอุบัติภัยทางถนน” ของกรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.สาธิต ปีตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 310 คน ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 5-6 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากความไม่ปลอดภัยทางถนนอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก โดยประชาชนในกลุ่มวัยเรียน และวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ถูกคร่าชีวิตมากที่สุด นำมาซึ่งความสูญเสียทรัพยากรบุคคล และภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขยายตัวของเมืองอย่างก้าวกระโดด
ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นมหานครที่มีความหลากหลาย และซับซ้อนในทุกๆ ด้าน ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยิ่ง กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบายในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับความสะดวก และปลอดภัยในการเดินทาง ด้วยการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นต้นแบบของมหานครแห่งความปลอดภัยของโลกโดยเฉพาะความปลอดภัยทางถนน
โดยยมีนโยบาย และทิศทางในการดำเนินการ ดังนี้
1. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการจัดลำดับความเสี่ยง หรือความสำคัญของปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของปัญหา เช่น ผู้ขับขี่ ถนน ยานพาหนะ รวมถึงมลภาวะที่เกิดจากการใช้รถ เช่น PM2.5 ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีข้อได้เปรียบจากการเป็นแหล่งรวมสารสนเทศ และการเป็นดิจิตอล บี-เอ็ม-เอ ของทุกหน่วยงานในสังกัด
2. สนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาลดปัจจัยความเสี่ยงเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน โดยมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยเป็นเป้าหมายหลักที่มีความสำคัญที่สุดเสมอ
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในระดับเขตของทุกๆ สำนักงานเขต ตั้งแต่กระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมประเมินผล เพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ บนหลักการความปลอดภัยของส่วนรวมต้องมาเป็นที่หนึ่ง
4. สร้างการเดินทางอย่างปลอดภัยที่ยั่งยืนโดยส่งเสริมความปลอดภัยของผู้เดินทาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ขับขี่จักรยาน และจักรยานยนต์ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงบนท้องถนนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ นโยบาย และแนวทางทั้ง 4 ข้อดังกล่าว จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการจราจร การสร้างทางเลือกในการเดินทาง และการจัดระเบียบพื้นที่เพื่อให้ผู้ใช้ถนน ทางเท้า และทางม้าลาย สามารถสัญจร ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย รวมถึงสามารถใช้ประโยชนอื่นๆ ร่วมกันโดยไม่กระทบต่อการเดินทาง โดยประสานความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และเทคโนโลยีต่างๆ เช่น กล้อง CCTV เป็นเครื่องมือ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยไม่เลือกปฏิบัติ
อีกทั้งยังต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ตามกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ Smart City ที่หลายๆ ประเทศทำสำเร็จมาแล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากนโยบาย และแนวทางดำเนินการที่มีความชัดเจนดังกล่าว หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน และขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้กรุงเทพมหานครบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนได้อย่างยั่งยืน และได้รับการพัฒนาไปสู่การเป็นมหานครต้นแบบแห่งความปลอดภัยของโลกได้ในอนาคตอันใกล้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศต่อไป
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน พัฒนากลไกการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับเขต (พชข.) แก้ไขปัญหา ป้องกันการบาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการจากการจราจรทางถนน โดยยกระดับข้อมูลจาก 3 ฐาน เป็น 3 ฐานพลัส นำข้อมูลผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตำรวจ และมรณะบัตรจากกระทรวงสาธารณสุข มาบูรณาการเพิ่มข้อมูลจากสถาบันนิติเวช อีก 7 แห่ง มาวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มเหล้า จุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุ เช่น ทางโค้ง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ นำไปใช้วางแผนการดำเนินงาน เช่น การตรวจสมรรถนะของผู้ขับขี่รถสาธารณะ โดยการใช้ Fit for Drive ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการจราจรทางถนนเหลือครึ่งหนึ่ง ตามนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือไม่เกิน 10 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2563 ภายใต้กรอบทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 8 มาตรการ ได้แก่
1. ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย
2. ลดพฤติกรรมเมาแล้วขับ
3. แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย
4. ปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด
5. ยกมาตรฐานยานพาหนะโดยเฉพาะมาตรฐานของรถจักรยานยนต์ รถกระบะ รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุก
6. พัฒนาสมรรถนะของผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีความปลอดภัย
7. พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้การบริการเข้าถึงผู้บาดเจ็บได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
8. พัฒนาระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีความเข้มแข็ง