นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อม และติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี โดยมีข้อสั่งการ 8 ข้อ ดังนี้
1. ให้ทุกพื้นที่เตรียมการรับมือ เฝ้าระวังสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง แจ้งเตือนประชาชน และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวทุกวัน
2. ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
3. ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้คำแนะนำกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยติดเตียง
4. ให้สถานบริการทุกแห่ง เตรียมพร้อมทั้ง น้ำ ไฟสำรอง ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และพร้อมเปิดคลินิกมลพิษ ให้คำปรึกษา รักษาแก่ประชาชน และเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานพยาบาลทุกระดับ
5. เฝ้าระวังผู้ป่วยนอกที่มารับบริการในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง ระบบตา และอื่นๆ และรายงานต่อส่วนกลางทุกสัปดาห์
6. หากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีปริมาณมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. เกิน 3 วัน ให้จังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC)
7. ใช้กลไกคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดในการเตรียมการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
8. จัดกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นเพื่อเป็นต้นแบบขององค์กรลดฝุ่นละออง
นอกจากนี้ ทางกรมอนามัย จะทำหน้าที่ตรวจติดตามปริมาณค่า PM 2.5 ทั่วประเทศ และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงผลิตสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ด้านกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะให้ อสม. เป็นแกนนำด้านสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ในการปฏิบัติตนในสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่ถูกต้อง
ขณะที่กรมควบคุมโรคจะทำระบบรายงานกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยที่อาจมีอาการกำเริบที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยกรมการแพทย์ได้พัฒนาความรู้ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เปิดคลินิกมลพิษให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีแผนรับมือ โดยจะผลักดันให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้านการแพทย์แ ละสาธารณสุข ใน 4 ระดับ คือ
1. ระดับจังหวัด หากมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ให้เปิดศูนย์ฯ ระดับจังหวัด โดยมี สสจ. เป็นผู้สั่งการ
2. ระดับเขตสุขภาพ ในกรณีที่มีการเปิดศูนย์ฯ ระดับจังหวัด มากกว่า 1 จังหวัด ให้ดำเนินการเปิดศูนย์ฯ ระดับเขตฯ
3. ระดับกรม หากมีการเปิดศูนย์ฯ ระดับเขตมากกว่า 2 เขต ต้องเปิดศูนย์ฯ ระดับกรม โดยมีอธิบดีกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์ และกรม สบส. ร่วมกันรับผิดชอบ
4. ระดับกระทรวง กรณีที่เปิดศูนย์ฯ ระดับเขตเกิน 3 เขต สามารถพิจารณาเปิดศูนย์ระดับกระทรวงได้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และนโยบายของผู้บริหารในการพิจารณา) และหากสถานการณ์ฝุ่นลดต่ำกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 6 วัน ให้ปิดศูนย์ฯ ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนในช่วงนี้แนะนำให้เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้เปลี่ยนเป็นสถานที่ที่ปลอดโปร่ง หรืออยู่ในโรงยิมแทน และหลีกเลี่ยงการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น การจุดธูป การเผาขยะ รวมถึงดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น หากต้องออกจากบ้านควรใส่หน้ากากอนามัย โดยสามารถติดตามสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai