ปัจจุบันสังคมไทยให้การยอมรับนักเล่นเกมมากขึ้น อีกทั้งยังถูกยกเป็นอาชีพ อย่างนักกีฬาอีสปอร์ต ซึ่งกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าอย่างมหาศาล เชื่อมโยงหลายธุรกิจ สร้างรายได้ รวมถึงภาครัฐเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญ นำเกมมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยด้วยเช่นกัน
อุตสาหกรรมเกมโตต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมเกมมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี มีมูลค่าในปี 2562 รวมกว่า 4.6 ล้านล้านบาท ในขณะที่ตลาดเกมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่ารวม 1.4 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2561 กว่า 22% ส่วนในประเทศไทยคาดการณ์ว่าภายในปี 2562 นี้ จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13%
โดยสัดส่วนประเภทเกมในประเทศ ไทยแบ่งตามแพลตฟอร์มดังนี้ Mobile Game (เกมมือถือ) 67% ตามด้วย PC Game (พีซี) 24% และ Console Game (คอนโซล) 9% เนื่องด้วยเมื่อสมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ติดตัวทุกคน อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของเกมบนแพลตฟอร์มมือถือจึงสูงเป็นอันดับ 1 อย่างไรก็ตาม ยังมีคนที่นิยมเล่นเกมพีซีและเกมคอนโซลอยู่เช่นกัน
สำหรับสัดส่วนช่วงอายุของคนเล่นเกมในไทย อยู่ในช่วงวัยรุ่นไล่ไปจนถึงวัยทำงานตอนต้นคือ 13-34 ปี และช่วงอายุที่เล่นเกมมากที่สุดคือ 18-24 ปี ซึ่งเป็น กลุ่มเป้าหมายหลักเดียวกับแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคหลายแบรนด์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเกมกลายเป็นความบันเทิงหลักของวัยรุ่นในยุคนี้ การใช้เกมเป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึง สื่อสาร และเรียกความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่น จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มาแรง
แบรนด์ไทยบุกตลาดเกม
ปัจจุบันธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมเข้ามาให้ความสนใจกับการเลือกใช้กลยุทธ์นำเกมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ปตท. เปิดให้ทดลองเกม NEW HORIZONS ที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย จัดเป็นเกมที่เสริมสร้างความรู้ และความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กๆ เรื่องพลังงานธรรมชาติ ในงาน Thailand Game Show 2019 ที่ผ่านมา
ด้านการ์นิเย่ เมน พาพรีเซนเตอร์ ต่อ ธนภพ มาแบทเทิลเกมสุดมันส์กับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ และนักกีฬาอีสปอร์ตชื่อดัง รวมถึงแบรนด์ โออิชิ เปิดตัวแคมเปญใหญ่กับกลุ่มเกมเมอร์ เป็นต้น นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในวงการธุรกิจที่เห็นโอกาสนำเกมเข้ามาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
สำหรับ Thailand Game Show 2019 ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมออกบูธในงานทั้งหมดมากถึง 55 ราย แบ่งสัดส่วนเป็นผู้ให้บริการเกมและอุปกรณ์การเล่นเกม 65% และแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ 35% มีผู้เข้าชมงาน 130,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20% เงินสะพัด 3 วันกว่า 200 ล้านบาท สะท้อนถึงการตอบรับเป็นอย่างดีในการใช้พื้นที่งานเป็นกลยุทธ์หลักในการสื่อสาร และทำการตลาดถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่
เปิดหลักสูตรโค้ดดิ้งหนุนศักยภาพเด็กไทย
ด้านภาครัฐให้ความสำคัญกับการนำเกมมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยเช่นกัน ล่าสุด กำหนดให้มีการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) สำหรับเด็กระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมเด็กไทยเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะเตรียมก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีเป้าหมายทำให้เด็กเข้าใจการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และหุ่นยนต์ สอดคล้องกับการเตรียมกำลังคนของประเทศให้มีทักษะทันโลกยุคดิจิทัล มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเด็กไทยควรมีทักษะที่สำคัญ 5 ประการจากการเล่นเกมดังนี้ 1. ทักษะการสื่อสารจากเกม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 2. การใช้ความคิดสร้างสรรค์ 3. การคิดเชิงตรรกะ มีเหตุมีผล รู้จักการวางแผนเป็นขั้นตอน 4. การทำงานเป็นทีม และ 5. เมื่อพ่อแม่เล่นเกมกับลูก ก็จะส่งผลให้สื่อสารในภาษาเดียวกัน เสริมสร้างความเข้าใจกัน และความอบอุ่นในครอบครัว
สำหรับการ Coding คือ การเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย Code เพื่อให้โปรแกรมทำตามคำสั่ง อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการสั่งงานคอมพิวเตอร์ให้ทำตามที่เราต้องการ โดยการใช้ภาษาของคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศเรียน Coding ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเกมไทยยังขาดการส่งเสริมและการผลักดันในด้านของผู้ผลิตหรือนักพัฒนาเกมอย่างมาก เพราะกว่า 90% เป็นเกมจากต่างประเทศ ขณะที่สัดส่วนเกมไทยมีเพียง 10% เท่านั้น สิ่งที่ควรผลักดันต่อไปคือนักพัฒนาเกม หรือโปรแกรมเมอร์ เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกม ซึ่งที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญ และไม่ได้มองเกมเป็นเรื่องไร้สาระเหมือนอย่างในอดีต
คุณต่อบุญ พ่วงมหา ผู้อำนวยการกลุ่มด้านธุรกิจออนไลน์สเตชั่น บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด
“ปัจจุบัน เกมกำลังอยู่ในกระแสทั่วโลก ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษา โดยวงการเกมเปรียบเสมือนอีกหนึ่งนวัตกรรมการศึกษารูปแบบใหม่ให้แก่เยาวชน”