Wednesday, May 24, 2023
More

    BTS พร้อมเปิดให้ใช้รถไฟฟ้า 4 สถานีใหม่ ตั้งแต่ 4 ธ.ค. นี้ นั่งฟรีถึง 2 ม.ค. 63

    BTS พร้อมเปิดให้ใช้รถไฟฟ้า สถานีพหลโยธิน 24 – สถานีรัชโยธิน – สถานีเสนานิคม – สถานี ม.เกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 62 เป็นต้นไป โดยเปิดให้นั่งฟรีถึง 2 ม.ค. 63 พร้อมเร่งทยอยเปิดใช้อีก 11 สถานีที่เหลือให้เร็วขึ้น ด้าน กทม. ยืนยันว่าจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบไม่เกิน 65 บาท

    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากกรุงเทพมหานคร สำนักการจราจรและขนส่ง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTSC รวมถึง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจตรวจสอบความพร้อมก่อนเปิดทดลองให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24, สถานีรัชโยธิน, สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 62 ที่ผ่านมา


    โดยผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วง 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24, สถานีรัชโยธิน, สถานีเสนานิคม และสถานี ม.เกษตรศาสตร์ มีความพร้อมแล้ว 100% เหลือเพียงทำความสะอาดบริเวณสถานีเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเวลา 11.00 น. จากนั้น 13.00 น. จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการ

    ในเบื้องต้นจะให้ใช้บริการ 4 สถานีฟรี พร้อมกับขยายเวลาไม่เก็บค่าโดยสารสถานีห้าแยกลาดพร้าว จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 4 ธ.ค. 62 ออกไปถึงวันที่ 2 ม.ค. 63 อย่างไรก็ตาม จะมีการเปลี่ยนแปลง หรือขยายเวลาเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องรอดูนโยบายจากนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งอาจจะมีการต่อรองกับ BTSC ผู้รับสัมปทานเพื่อขอขยายเวลาเพิ่มเติมอีก

    ขณะที่ส่วนต่อขยายอีก 11 สถานี ตั้งแต่สถานีกรมป่าไม้ – สถานีคูคต ที่มีกำหนดจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการครบตลอดสายภายในเดือน ธ.ค. 63 แม้จะเร็วกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาคือเดือน มี.ค. 64 แต่ก็มีแนวคิดว่าอีก 3-4 เดือนจากนี้จะทยอยเปิดให้บริการต่อจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกไปอีก 3-4 สถานี และทยอยเปิดไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้เสร็จทั้ง 11 สถานีจึงเปิดให้บริการ เนื่องจากขณะนี้โครงสร้าง ระบบ และรถไฟฟ้ามีความพร้อมแล้ว เหลือเพียงสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้าที่คูคตซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จ โดย กทม. จะหารือร่วมกับ รฟม. BTSC และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพื่อหาแนวทางจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งอื่น เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าไปก่อนจนกว่าสถานีจ่ายไฟที่คูคตจะแล้วเสร็จ

    ส่วนการเจรจาเรื่องการบริหารจัดการโครงการ และการบริหารจัดการสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟฟ้า ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-แบริ่ง, ช่วงบางหว้า – สนามกีฬาแห่งชาติ, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) ตามคำสั่ง คสช. นั้น พล.ต.อ.อัศวิน ระบุว่า ทราบว่าล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจได้มีมติเห็นชอบผลการเจรจาแล้ว และทางกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณา ซึ่งหากมีมติเห็นชอบ กทม. จะนัดเจรจากับ BTSC เพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างสัญญา และเงื่อนไขการรับภาระหนี้ค่าก่อสร้างที่ต้องจ่ายคืนให้ รฟม.

    โดยการเจรจาในเบื้องต้นได้มีข้อตกลงในหลักการร่วมกันว่า BTSC ต้องจัดเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวทั้งระบบไม่เกิน 65 บาท และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว พร้อมรับภาระหนี้ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนใต้และเหนือทั้งหมด โดยชำระคืนให้ รฟม.รวม 2 สายทางกว่า 100,000 ล้านบาท ส่วนจะมีการขยายสัญญาสัมปทานจากเดือน ธ.ค. 72 ออกไปอีกกี่ปี ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องให้ ครม. ตัดสินใจ ซึ่งผลการเจรจาที่เสนอไปมีหลายแนวทางให้ ครม.พิจารณา

    นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ยังกล่าวว่า ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะขยายสัมปทานออกไปอีกกี่ปี แต่เบื้องต้นที่เราเสนอ ครม. ก็มีหลักการ คือ BTSC จะต้องเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวทั้งระบบไม่เกิน 65 บาท และต้องรับภาระหนี้ค่าก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งต้องมาคำนวณกันอีกทีว่า BTSC จะใช้เวลาชำระหนี้กี่ปี จากนั้นค่อยเริ่มแบ่งรายได้ให้ กทม. โดยเรื่องนี้จะคุยกันในรายละเอียดหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบผลการเจรจาแล้ว

    ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ BTS เปิดเผยว่า BTS ยอมรับในเงื่อนไขการจัดเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท แต่จะมีการปรับขึ้นตามระยะเวลาที่ตกลงกัน ส่วนการรับภาระหนี้ค่าก่อสร้าง เป็นการรับภาระแบบมีวิธีการ ซึ่งยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในตอนนี้

    สำหรับการเปิดให้บริการฟรี 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ BTSC กำหนดรูปแบบการเดินรถ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak) ในตอนเช้า เวลา 07.00 – 09.00 น. และในตอนเย็น 16.30 – 20.00 น. จะให้บริการเดินรถตั้งแต่สถานีเคหะสมุทรปราการ (E23) ไปตามเส้นทางสายสุขุมวิทจนถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N13) แล้วกลับรถวิ่งให้บริการในเส้นทางเดิมไปจนถึงเคหะสมุทรปราการ (E23) ซึ่งจะวิ่งสลับแบบ 1 ต่อ 1 กับขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการในเส้นทางสถานีหมอชิต (N8) ถึงสถานีสำโรง (E15)

    ส่วนนอกเวลาเร่งด่วน และวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) จะให้บริการตั้งแต่สถานีเคหะสมุทรปราการ (E23) ไปตามเส้นทางสายสุขุมวิทจนถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N13) แล้วกลับรถวิ่งให้บริการในเส้นทางเดิมไปจนถึงเคหะสมุทรปราการ (E23)

    โดยจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการผู้โดยสาร ได้แก่ บันไดเลื่อน กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ประกอบด้วย ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ พื้นผิวสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น ทางลาดรถเข็นสำหรับผู้พิการ ราวจับสำหรับผู้พิการ รวมถึงจุดเว้าเพื่อจอดรถรับ-ส่ง ทั้งนี้คาดว่าจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดีรังสิตได้เป็นอย่างดี

    ภาพจาก: บริษัท BTS และ กลุ่มงานสารสนเทศ ส่วนสื่อสารองค์กร สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.