จากสถิติพบกลุ่มคนรวยในไทยราว 1.8 ล้านคน ซึ่งมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนบาท ขณะที่ในเอเชียแปซิฟิก 11 ประเทศมีรวมกันราว 20.64 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถึงอย่างนั้นในไทยก็ยังพบความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ คนรวย-จน แตกต่างกันสูงถึง 10.3 เท่า
เอเชียแปซิฟิกมีคนรวยอยู่ 18%
20.64 ล้านคน คือจำนวนของกลุ่มคนรวยในเอเชียแปซิฟิก สูงถึง 18% ของประชากรทั้งหมด จากการเปิดเผยรายงานวิจัยวิถีชีวิตกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย (Affluent Asia) โดยอิปซอสส์ (ประเทศ) ซึ่งครอบ คลุม 11 ประเทศทั่วเอเชียรวมทั้งไทย ยังพบว่ากลุ่มคนรวยชาวเอเชียมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือน $USD 5,477 (1.6 แสนบาท) ส่วนกลุ่มคนรวยชาวไทย ซึ่งมีจำนวนราว 1.8 ล้านคน รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ $USD 4,826 (1.4 แสนบาท)
สำหรับพฤติกรรมการชอปปิงของกลุ่มคนที่มีรายได้สูง มักจะเลือกคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการและรูปแบบไลฟ์สไตล์ โดยพบว่าคนรวยในเอเชียแปซิฟิกและไทยใช้จ่ายกับจิวเวลรี่มูลค่าถึง $USD 9,999 (ราว 3 แสนบาท) นาฬิกาหรู $USD 1,999 (6 หมื่นบาท) รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ $USD 4,999 (1.5 แสนบาท) ที่น่าสนใจคือ 63% ของกลุ่มคนรวยชาวไทย และ 53% ของกลุ่มคนรวยชาวเอเชียแปซิฟิก พร้อมและยินดีที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับสินค้าหรือบริการที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอีก 53% ของกลุ่มคนรวยชาวไทย และ 47% ของกลุ่มคนรวยชาวเอเชียแปซิฟิก ยังยินดีที่จะซื้อหรืออุดหนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ
ขณะที่การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่กลุ่มคนมีฐานะชาวเอเชียชื่นชอบ จากสถิติพบว่าจะมีการเดินทางไปต่างประเทศอย่างน้อย 4 ครั้ง/ปี โดยเลือกที่จะไปญี่ปุ่น 19% และฮ่องกง 14% โดยการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือเพื่อสุขภาพ และการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงมากในกลุ่มคนรวยชาวไทยอีกด้วย
สำหรับรูปแบบสื่อที่คนรวยในเอเชียชื่นชอบนั้นครอบคลุมแทบทุกแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อรูปแบบดั้งเดิมและสื่อใหม่ดิจิทัล โดย 50% ของคนรวยชาวไทย และ 44% ของคนรวยในเอเชียแปซิฟิก มีการรับสื่อทางทีวีและนิตยสารต่างประเทศ ขณะที่สื่อโซเชียล นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกลุ่มคนมั่งคั่งทั้งหลาย โดยเฉพาะในไทยที่ใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย ราว 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนรวยในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 6 ชั่วโมง
คนไทยรวย-จนเหลื่อมล้ำกัน 10.3 เท่า
จากรายงาน “ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีหลายมิติ และเป็น หนึ่งในความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยงานศึกษาแรกคือ “ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของไทยในศตวรรษที่ 21” ซึ่งพบว่า ภาพรวมความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยปรับดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งจากรายงานของ World Economic Forum (2018) ชี้ว่าระดับความไม่เสมอภาคของไทยสูงเป็นอันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งความแตกต่างของรายได้โดยเฉลี่ยระหว่างกลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุด 20% และกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุด 20% สูงถึง 10.3 เท่าในปี 2015 โดยกลุ่มรายได้สูงสุดมีรายได้รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด และกว่า 50% ของคนจนทั้งประเทศอยู่ในภาคเกษตร
ขณะที่รายงาน The Inclusive Development Index 2018 ของ World Economic Forum ยังพบความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของไทยเพิ่มขึ้น 2.5% ต่อระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2013-2018) สูงเป็นอันดับที่ 10 จาก 107 ประเทศทั่วโลก ส่วนด้านโอกาส ก็ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาจากการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน โดยการสำรวจในปี 2017 พบว่าครัวเรือนไทยที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนเพียง 24.8% และ 64.4% ตามลำดับ นอกจากนี้ด้านโอกาสทางการศึกษาในเชิงพื้นที่ ซึ่งพิจารณาจากระดับคะแนน PISA ของนักเรียนระดับมัธยมที่แยกตามภูมิภาค พบว่าคะแนนของนักเรียนจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญในทุกสาขาวิชา ซึ่งอาจส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้าน รายได้มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต
ส่วนงานศึกษาที่สอง คือ “ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” แม้ว่าความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ของไทยทั้งมิติด้านรายได้และสังคมดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยไทยมีการเติบโตอย่างกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลเป็นหลัก โดยจากรายงานของ OECD (2018) พบว่าในหลายภูมิภาคมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่ากรุงเทพฯ มาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าถึง 9 เท่า
และงานศึกษาที่ 3 “ความเหลื่อมล้ำมิติอาชีพของไทย: กรณีศึกษาในอาชีพเกษตร” พบว่าครัวเรือนเกษตรกร เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของไทย ซึ่งมีรายได้สุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 16,000 บาท/เดือน โดยที่ 60% มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาชีพ นอกจากนี้หัวหน้า ครัวเรือนมีอายุมาก อยู่ในช่วง 40-60 ปี และระดับการศึกษาจะไม่เกินระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการยกระดับรายได้ อย่างไรก็ดี การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ดินทำกิน การปรับตัวในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะโลกที่เปลี่ยน แปลงไป รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเกษตร ตลอดจนแพลตฟอร์มข้อมูลกลางที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาดอย่างครบถ้วน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่เกษตรกรให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำแก่ครัวเรือนเกษตรกรลงได้ในอนาคต