Thursday, May 25, 2023
More

    กทม. ลุย ภาคีเครือข่ายต้าน แผนสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

    จากที่ กรุงเทพมหานคร ประกาศความพร้อมเดินหน้าก่อสร้างทางเลียบเจ้าพระยา โดยจะของบประมาณดำเนินการก้อนแรกประมาณ 800 ล้านบาท ทางสมัชชาแม่น้ำ ก็ได้แถลงการณ์จี้ให้นายกรัฐมนตรี และ กทม. ยุติโครงการ พร้อมเน้นย้ำ 5 เหตุผลหลัก ที่กระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และหวั่นว่าจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะเป็นตราบาปติดเมืองเฉกเช่นโครงการโฮปเวลล์

    กทม. ประกาศพร้อมสร้างทางเลียบฯ
    จากที่ นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมานคร ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมด้วยคณะทำงาน และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงสำรวจพื้นที่และให้ข่าวว่า กทม. มีความพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง 4 สัญญา


    โดยล่าสุดได้พิจารณาตัดเนื้องานใน 2 สัญญา ที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ออกไปบางส่วน ทำให้แนวเส้นทางเหลือประมาณ 12.43 กม. และพร้อมที่จะก่อสร้างช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรม ชลประทาน และช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด นำร่องก่อน ซึ่งขณะนี้สำนักการโยธา (สนย.) อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 10% หรือประมาณ 800 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการฯ ก่อน หากได้รับอนุมัติ จะใช้เวลาในการประกวดราคาประมาณ 5 เดือน และก่อสร้างประมาณ 540 วัน หรือ 18 เดือน

    สำหรับรูปแบบโครงการฯ ประกอบด้วย การก่อสร้างทางเดิน ทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดความกว้าง 10 เมตร ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะ เส้นทางการเข้าถึง รวมถึงระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ โดยโครงสร้างทางเดิน ทางจักรยานจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 2.25 ม. และต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมปัจจุบันประมาณ 1 ม.

    ซึ่ง กทม. ยืนยันว่าไม่บดบังทัศนียภาพสิ่งก่อสร้าง ภูมิทัศน์ วัฒนธรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ไม่กระทบต่อการเดินเรือทุกประเภท และมีตะแกรงใต้ตอม่อเพื่อกักเก็บขยะและเพื่อให้น้ำไหลเวียนสะดวก ไม่ก่อให้เกิดแรงกระแทก การกัดเซาะ หรือเปลี่ยนทิศทางน้ำ และมีทัศนียภาพเหมาะสมเมื่อระดับน้ำลดลง เมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะมีระบบป้องกันไม่ให้รถจักรยานยนต์ หาบเร่แผงลอยเข้าไปได้ รวมถึงจะมีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด ไฟฟ้าแสงสว่าง การตรวจตราสอดส่อง และศูนย์บริการเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวและดูแลเรื่องความปลอดภัย

    35 องค์กรร่วมออกเสียงต้าน
    ต่อเรื่องนี้ นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ในฐานะตัวแทนกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ ได้ชี้แจงว่า การที่ กทม. อ้างว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านโครงการนี้แล้ว ในข้อเท็จจริง ยังมีองค์กรและภาคประชาสังคมที่แสดงความไม่เห็นด้วย อีกทั้งโครงการนี้ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมัชชาแม่น้ำซึ่งประกอบด้วยองค์กรและเครือข่าย รวม 35 องค์กร เห็นว่าหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง จึงขอแถลงจุดยืนเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการฯ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

    ค้านแบบถนนรุกล้ำแม่น้ำ
    1. สมัชชาแม่น้ำ เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำ และมีการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสมกับบริบทและคุณค่าของพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรในรูปแบบถนนที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา
    2. ทั้งที่ กทม. สามารถดำเนินการแก้ปัญหาการรุกล้ำแแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตามอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่แต่กลับไม่ทำ ในทางตรงกันข้าม กลับทำเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำคับแคบลงทั้งสอง ฝั่งร่วม 20 เมตร
    3. แม่น้ำเจ้าพระยาสมควรถูกอนุรักษ์เป็นโบราณสถานตลอดสายน้ำ เพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป แต่การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นตัวขวางกั้นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ำอันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน
    4. การก่อสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในกรณีที่เกิดอุทกภัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ถึงแม้ว่าในภาวะปกติ พฤติกรรมการไหลที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะตลิ่ง และการตกตะกอนในลำน้ำ รวมถึงการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่ง กทม. ควรศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมในอนาคต

    ยันไม่ใช่ทุกฝ่ายที่เห็นด้วยกับ กทม.
    5. ล่าสุดจากการที่ กทม. ตัดโครงการออกบางส่วน จากเดิมที่วางแผนไว้ 14 กม. คงเหลือความยาวรวมประมาณ 12.45 กม. เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแม้แต่จากภาครัฐเองตามที่ กทม. กล่าวอ้าง

    จากทั้ง 5 เหตุผลข้างต้น สมัชชาแม่น้ำ จึงมีความเห็นว่าหากมีการดำเนินโครงการนี้ต่อไป จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อแม่น้ำเเจ้าพระยาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ดังนั้นจึงขอคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในรูปแบบของการสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ และขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งยุติโครงการ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง

    ทางเลียบฯ มาเพื่อทำลายวิถีชีวิต-ชุมชน
    ขณะที่ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนายกสมาคมนักผังเมืองไทย แสดงความเห็นว่า ประชาชนทั่วไปควรใช้พื้นที่ริมน้ำได้จริง แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าถึงตลอดแนวแม่น้ำทั้ง 14 กิโลเมตร และโครงการดังกล่าวจะสร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก ทำให้ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำไม่มีความเป็นส่วนตัว ไม่ปลอดภัย หากรัฐใช้พื้นที่ของรัฐที่อยู่ริมแม่น้ำเปิดเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ ก็ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำ และไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลทั้งในการก่อสร้าง ดูแล ซ่อมบำรุง รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในทุกด้าน

    โครงการนี้ยังจะมีผลให้ลดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชุมชนริมน้ำ ทำลายภาพจำที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ริมแม่น้ำที่มีต่อต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นโครงการโดดเดี่ยว มีแต่แผนงานของ กทม. แต่ไม่มีในส่วนของไฟฟ้า ประปา หรืออื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมือง ทั้งนี้มีความเห็นว่าการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ ควรเลือกพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน และใช้พื้นที่รัฐเป็นตัวอย่างในการเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าถึงได้ ซึ่ง พ.ร.บ. ผังเมือง มีระเบียบที่เรียกว่าที่อุปกรณ์ ที่รัฐสามารถใช้เป็นเครื่องมือดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นแลกกับการได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ อยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องนี้ภาครัฐไม่เคยพิจารณาแต่อย่างใด

    ด้านนางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชา-การด้านผังเมือง กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสมัชชาแม่น้ำ และภาคีเครือข่ายยื่นเอกสารยื่นฟ้องภาครัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และ กทม. เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการว่า ศาลปกครองได้รับคำร้อง โดยคำร้องข้อแรกที่ได้ยื่นให้ศาลปกครองพิจารณา คือโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีการถอดถอนโครงการ ซึ่งศาลได้ส่งเอกสารไปยังผู้ถูกฟ้อง และขณะนี้ผู้ถูกฟ้องได้ทำเอกสารโต้แย้งมา พร้อมทั้งขอให้ทางผู้ฟ้องร้องทำข้อโต้แย้งคัดค้าน

    โดยขณะนี้สมัชชาแม่น้ำและภาคี เครือข่าย กำลังปรึกษากับทีมกฎหมาย และจะดำเนินการจัดทำข้อโต้แย้งคัดค้านไปตามกระบวนการข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คาดว่าจะจัดทำข้อโต้แย้งคัดค้านยื่นไปยังศาลปกครองภายในกลางเดือน ม.ค. 2563 เพราะค้นพบว่าเอกสารโต้แย้งจากฝั่งผู้ถูกฟ้องนั้นยังเป็นการทำงานที่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่พอเพียง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลปกครอง

    กทม. ยืนยันพร้อมฟังทุกข้อเสนอแนะ
    ด้านนายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการ ในฐานะรักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สนย. กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้คำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับจากการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้า-พระยาเป็นสำคัญ และไม่ได้เร่งรีบในการดำเนินการโครงการดังกล่าว และ กทม. ยินดีที่จะรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อกังวลจากสมัชชาแม่น้ำและองค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบโครงการให้เหมาะสมกับศักยภาพในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่และครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น ขณะที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หากยังมีผู้คัดค้านเยอะก็ไม่อยากทำ แม้จะมีคนเห็นด้วย 78% แต่ก็ยังมีคนไม่เห็นด้วยกว่า 20% ต้องการให้ทุกคนเห็นด้วย 100% ซึ่งอยากให้สบายใจกันทุกคน จะสร้างดีหรือไม่สร้างดีก็มาช่วยกันคิด

    ทั้งนี้ กทม. ได้ทำหนังสือเชิญสมัชชาแม่น้ำและองค์กรภาคีเครือข่ายรวม 35 องค์กร มาร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีนายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่า กทม. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 62 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บริหารสำนักการโยธา ผู้แทนกรมศิลปากร กรมเจ้าท่า องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น นักวิชาการบางส่วนมาร่วมประชุม ขณะที่กลุ่มสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายไม่ได้มาเข้าร่วม ซึ่งเป็นการยืนยันตามแถลงการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และมองว่าการที่ กทม. ขอหารือด้วยทั้งที่ยังมีเป้าหมายเดิมอยู่อาจจะไม่เกิดประโยชน์ แต่เห็นควรว่า กทม. ควรออกหนังสือสั่งยกเลิกโครงการดังกล่าวก่อนเปิดการเจรจาหาทางออกร่วมกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

    สำหรับผลการประชุมมีข้อสรุปว่า ผ.ศ.พงศ์พร สุดบรรทัด จาก Urban Action Team จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง กทม. กับกลุ่มสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่าย เพื่อหาข้อสรุปในการปรับปรุงรูปแบบโครงสร้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นชอบตรงกัน โดยจะสรุปให้จบภายใน 5 เดือน ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2563 จากนั้นจึงจะเดินหน้าโครงการต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร กทม. ยืนยันว่า ระหว่างนี้จะไม่มีการประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้าง และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นรวมถึงรอการประสานงานจากกลุ่มสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่าย เพื่อทำงานร่วมกันเพื่อสาธารณประโยชน์