Friday, December 8, 2023
More

    แบงก์ชาติเผยหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูง 148.8% ต่อรายได้ครัวเรือน

    ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2562 (Financial Stability Report 2019) พบว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ เนื่องจากระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง ฐานะด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปช่วยลดความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง

    แต่ในระยะข้างหน้าระบบการเงินไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานขึ้น โดยมี 4 จุดที่เปราะบาง หรือมีการสะสมความเสี่ยง ประกอบด้วย


    1. หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
    สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังน่ากังวล โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งจากรายงานพบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP กลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2561 จากทั้งการชะลอตัวของ GDP และการขยายตัวของสินเชื่อ โดยในไตรมาส 3 ปี 2562 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 79.1% ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือน พุ่งสูงที่ 148.8%

    โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคทุกประเภท ซึ่งเป็นผลจากทั้งการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อยที่สูงขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มากขึ้น ซึ่งในไตรมาส 2 ปี 2562 สัดส่วนหนี้ของครัวเรือน (เงินต้นและดอกเบี้ยจ่าย) สามารถจำแนกตามวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ได้ดังนี้

    อันดับ 1 สินเชื่อส่วนบุคคล 26.3%
    อันดับ 2 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 24.4%
    อันดับ 3 สินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ 17.1%
    อันดับ 4 สินเชื่อเพื่อธุรกิจ 17.0%
    อันดับ 5 สินเชื่อบัตรเครดิต 15.2%

    ซึ่งแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนไทยมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภค (ผ่อนสั้น ดอกเบี้ยสูง) โดย 42% ของการผ่อนชำระเป็นหนี้เพื่อการบริโภค ซึ่งมากจากสินเชื่อส่วนบุคคล 26.3% และสินเชื่อบัตรเครดิต 15.2% ทั้งนี้หากครัวเรือนเผชิญปัจจัยลบในอนาคต เช่นรายได้ลดลง จะเพิ่มโอกาสของการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น โดยสัดส่วนหนี้ระยะสั้นที่สูงนั้น ส่งผลให้ครัวเรือนมีภาระผ่อนต่อเดือนสูงไปด้วย

    อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากและใช้เวลา ซึ่งต้องแก้แบบองค์รวม รวมทั้งอาศัยความร่วมมือ และการผลักดันจากทุกภาคส่วน

    2. พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่ underpricing of risks
    ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรม search for yield ยังมีต่อเนื่องซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยนักลงทุนบุคคลอาจไม่ได้รับข้อมูลความเสี่ยงอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ยอดคงค้างตราสารหนี้ non-investment grade และ unrated ณ เดือนกันยายน ปี 2562 อยู่ที่ 238,719 ล้านบาท

    นอกจากนี้การลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวม term fund กระจุกตัวสูงในบางประเทศ บางประเภทสินทรัพย์ และผู้ออกตราสารบางราย

    ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินการยกระกับหลักเกณฑ์ การออก การเสนอขาย และการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้แก่ผู้ลงทุนให้เพียงพอ และเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมถึงการกำกับดูแล term fund เพื่อให้มีการกระจายการลงทุนมากขึ้น และเปิดเผยข้อมูลที่ครอบคลุมขึ้นให้ผู้ลงทุน

    3. ความเชื่อมโยงในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มากขึ้น
    สินทรัพย์ของสหกรณ์ขยายตัวต่อเนื่อง และความเชื่อมโยงกันเองในระบบเพิ่มขึ้น ผ่านการกู้ยืม และรับฝากเงินระหว่างกัน ซึ่งเป็นข้อต่อในการส่งผ่านความเสี่ยง (contagion) โดยเฉพาะจากสหกรณ์กลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจเป็นช่องทางสำคัญในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์

    4. การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์หลังมาตรการ LTV และภาวะอุปทานคงค้าง
    ผลของมาตรการ LTV สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ยังขยายตัว โดยผู้กู้สัญญาแรก ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ขณะที่การเก็งกำไรชะลอลง และมาตรฐานการให้สินเชื่อรัดกุมขึ้น

    ส่วนราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้กู้ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่เหมาะสมขึ้น ขณะเดียวกันยังคงต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้าง โดยเฉพาะอาคารชุดในบางพื้นที่

    อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้ติดตามและประเมินผลของมาตรการ LTV รวมทั้งรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการบรรลุวัถตุประสงค์ และไม่กระทบต่อประชาชนที่ต้องการกู้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง รวมทั้งจะพิจารณาปรับมาตรการหากพบว่ามาตรการตึงเกินไป หรือส่งผลกระทบข้างเคียงที่มากเกินควร