รฟม. เร่งสรุปแผนสร้างรถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เผยตลอดเส้นทางมีสถานีรับ – ส่งผู้โดยสาร 16 สถานี ระยะทางรวม 16 กิโลเมตร คาดเริ่มก่อสร้างในปี 2565 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) โดยมีนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563
โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 นี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาแนวเส้นทาง สถานี รูปแบบโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบผลการศึกษา พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในลำดับต่อไป ซึ่งมีผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจรวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน
นอกจากนั้นยังได้มีการจัดการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง เพื่อเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์การให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนโครงการ และรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากตัวแทนของภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับผลการศึกษาโดยสรุปคือ โครงการได้ออกแบบระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นประเภทระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) มีลักษณะเป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งไปตามทางวิ่งหรือราง มีรูปแบบที่คล้ายกับรถไฟฟ้า MRT แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยวิ่งตามแนวเหนือใต้ รวมระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งระดับดินประมาณ 9 กิโลเมตร และเป็นทางวิ่งใต้ดินประมาณ 7 กิโลเมตร
ตลอดเส้นทางมีสถานีรับ – ส่ง ผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่ 1.สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ 2.สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ 3.สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี 4.สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 5.สถานีแยกหนองฮ่อ 6.สถานีโพธาราม 7.สถานีข่วงสิงห์ 8.สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 9.สถานีขนส่งช้างเผือก 10.สถานีมณีนพรัตน์ 11.สถานีประตูสวนดอก 12.สถานีแยกหายยา 13.สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ 14. สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ 15.สถานีบ้านใหม่สามัคคี และ 16.สถานีแม่เหียะสมานสามัคคี
ทั้งนี้ ตามแผนงานเมื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2565 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย