เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดยศาลปกครองได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การก่อสร้างทางเดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ในจำนวน 12 แผนงานในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแผนงานดังกล่าวจะมีการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา กว้างประมาณ 6-10 ม. ยาวตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งระยะทางประมาณ 57 กม. ล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้เป็นทางสัญจร รองรับการเดินทางด้วยจักรยาน ชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย น่าจะไม่ใช่อาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเจ้าพระยาที่กรมเจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้ตามมาตรา 117 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2452 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ.2537) การก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและมิใช่การสร้างสิ่งล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการคมนาคมและการขนส่งทางน้ำตามเจตนารมย์ของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
อีกทั้งทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะเป็นอาคารตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แต่ในการดำนินโครงการดังกล่าวไม่ปรากฎว่า กทม. ได้มีการแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลน ฯ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2528)
กรณีนี้จึงมีมูลว่าการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎมาย และเมื่อปรากฎว่า กทม. ได้ดำเนินการเตรียมการที่จะดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นลำดับ จึงถือได้ว่า กทม. ตั้งใจที่จะกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และการห้ามมิให้ กทม. ดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าแม่น้ำเจ้าพระ มิได้มีผลกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของ กทม. จึงมีคำสั่งห้ามมิให้ กทม. ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น