Tuesday, June 6, 2023
More

    ขยะพลาสติก ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากอันดับ1 มากกว่าการใช้ถุงผ้าคือ “ระบบจัดการขยะ”

    จากผลการสำรวจเกี่ยวกับมุมมองปัญหาขยะพลาสติกของคนไทย ที่จัดทำโดย Kantar (คันทาร์) ผู้นำด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาการตลาดระดับโลก ซึ่งสำรวจความคิดเห็นจากคนไทยจำนวน 1,200 คน พบว่า ‘ขยะพลาสติก’ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยตระหนักมากที่สุดเป็นอันดับ 1 สูงถึง 18% มากกว่าค่าเฉลี่ยจากผลสำรวจประชากรทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 15% ของผู้คนทั้งหมด โดย 63% ของคนไทยมองว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักติด 5 อันดับแรก

    ทั้งยังพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยที่ถูกสำรวจเชื่อว่าคนที่ควรรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกคือ ‘ตัวเราเอง’ ซึ่งแสดงเห็นชัดเจนว่า คนไทยตระหนักถึงปัญหาพลาสติก และอยากที่จะออกมาร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณดีที่คนไทยตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น


    นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่า ประเทศไทยมีคนอยู่ 12% ที่เป็น “Eco-Doer” คนที่ลงมือลดขยะพลาสติกผ่านการพกถุงผ้า ขวดน้ำรีฟิล หรืองดรับช้อนส้อมพลาสติกจากร้านค้า แต่อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ยังคงซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงยังอยู่ในระดับเบื้องต้น และยังไม่มากพอที่จะส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน

    ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับภาครัฐรวมไปถึงผู้ประกอบการที่จะต้องทำความเข้าใจถึง “Green gap” ช่องว่างสีเขียวระหว่างความเชื่อมั่นและการกระทำ ว่าจะทำอย่างไรให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง และในฐานะผู้บริโภคต้องมีความพร้อมในการเลือกใช้แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในการลดขยะพลาสติก การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากทุกคนและทุกภาคส่วน

    ขณะเดียวกันพบว่า 35% ของคนไทยมองว่า “ผู้ผลิต” เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยการลดปริมาณพลาสติก หรือเปลี่ยนวัสดุในบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเป็นสิ่งที่คาดหวังให้ผู้ผลิตทำ และผนวกไปกับความรับผิดชอบของผู้บริโภคเอง สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ผู้บริโภคคนไทยคาดหวังจากผู้ผลิตมากที่สุดคือ การได้รับความช่วยเหลือในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของการแยกขยะ กำจัดขยะผ่านโครงการ CSR เช่น พื้นที่แยกขยะที่เข้าถึงได้ง่ายและการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถเริ่มทำได้ในระยะสั้นต่อเนื่องไปเป็นโครงการระยะยาว และก้าวมาเป็นผู้สนับสนุนตามที่ผู้บริโภคต้องการอย่างแท้จริง

    อย่างไรก็ตาม ชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประเทศไทยและมาเลเซีย บริษัท คันทาร์ จำกัด แผนกเวิร์ลพาแนล ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันผลกระทบจากการกระทำมนุษย์มีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการตายของ ‘มาเรียม’ พะยูนที่เสียชีวิตจากพลาสติกขนาดเล็กที่อุดตันในลำไส้ ฝุ่น PM2.5 ที่เราเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ และ ‘ขยะพลาสติก’ ที่ถือเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่างยิ่ง ประเทศไทยเป็นอันดับ 6 ของโลก สำหรับประเทศที่มีขยะพลาสติกสะสมมากที่สุด ซึ่งทางภาครัฐเองก็หยิบยกปัญหานี้และออกมาตรการ “โรดแมพจัดการขยะพลาสติกปี 2018” โดยเริ่มจากการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการจนเกิดโครงการ “Everyday Say No to Plastic Bag” โดยร้านค้าปลีกกว่า 70 รายทั่วประเทศงดแจกถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2020 หลายภาคส่วนออกมารณรงค์แก้ไขปัญหา และในฐานะคนไทยคำถามที่เราควรตระหนักคือ อะไรคือบทบาทที่ตัวเราเองและคนอื่นๆ ควรร่วมกันทำจากวันนี้เป็นต้นไป

    ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเราต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คนไทยรับรู้ถึงปัญหาของขยะพลาสติกและตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเองที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข แต่ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้ายังคงไม่เปลี่ยนแปลงไป เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังมีอุปสรรคอยู่มาก และท้าทายสำหรับประเทศไทยในภาพรวม แต่ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับภาครัฐ และเอกชนที่จะแสดงศักยภาพของความเป็นผู้นำให้กับผู้บริโภคชาวไทยต้องการความร่วมมื
    อและช่วยเหลือ ทั้งปัจจัยพื้นฐานและความรู้ในการแก้ไขปัญหา และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน