สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ฟู้ด เดลิเวอรี่ รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมใจกันเปิดตัวบริการส่งอาหารรูปแบบใหม่ “ไร้การสัมผัส” หรือ “Contactless Delivery” เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร และคลายความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากการสัมผัส ที่สำคัญยังเป็นการตอบโจทย์ให้กับเหล่าคนทำงาน ที่กำลัง Work from home อยู่ในขณะนี้อีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็น “เคเอฟซี” ที่ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยคลายความกังวลให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการออกแบบ และนำเสนอบริการใหม่ “Contactless Delivery” หรือ “บริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส” เพื่อความสบายใจในการสั่งไก่ทอดเคเอฟซีมารับประทานที่บ้านของลูกค้าทุกคน
ทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องระยะห่างทางสังคม (Social Distance) เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดส่งนั้นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่เกิดจากการสัมผัส ทั้งจากการสัมผัสเงิน และการสัมผัสมือ โดยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
– ขั้นตอนการสั่ง : สั่งผ่านเว็บไซต์ kfc.co.th หรือ แอปพลิเคชัน KFC Thailand ระบุความต้องการใช้บริการ Contactless ชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือ Rabbit Line Pay
– ขั้นตอนการบรรจุ : พนักงานร้านผู้ดูแลออร์เดอร์เป็นคนจัดอาหาร บรรจุ และตรวจคุณภาพอาหารก่อนผูกมัดถุง และนำอาหารจัดใส่กระเป๋าขนส่งของพนักงานจัดส่ง
– ขั้นตอนการส่ง : พนักงานส่งเดินทางไปยังจุดหมาย โทรหาลูกค้า เชิญลูกค้าหยิบถุงบรรจุอาหารออกจากกระเป๋าจัดส่งเองและเว้นระยะห่างในการยืนรอ
นอกจากนี้ KFC ยังเปิดเผยว่า ในขั้นตอนการจัดเตรียมอาหาร มีขั้นตอนการปรุงที่มีความปลอดภัยสูง และมาตราฐานปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทั่วโลก มีการปรุงสุกด้วยความร้อนสูงกว่า 100 องศา มีการจัดเก็บในตู้ที่อุณภูมิ 60 องศาขึ้นไป และใช้ที่คีบในการหยิบอาหารทุกชิ้น และบรรจุโดยพนักงานในร้านที่ผ่านการคัดกรองแล้ว ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า หากเลือกรับ “บริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส” อาหารจากร้าน KFC จะส่งตรงจากครัวถึงบ้านโดยไม่ผ่านมือพนักงานส่งแม้แต่น้อย
หากเทียบกับการส่งในรูปแบบเดิม ที่มีการส่งอาหารถึงมือ อาจต้องสัมผัสมือกัน ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงได้ ตั้งแต่การรับเงิน การส่งอาหาร และการพูดคุยกันในระยะใกล้ แต่บริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส นี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการสัมผัส และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและลูกค้า ทั้งนี้ ระบบให้บริการจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งร้าน พนักงาน และลูกค้า ที่ต่างฝ่ายต่างดูแลสุขอนามัยของตนเองด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน อย่าง “แกร็บฟู้ด” ก็ได้เปิดตัวบริการส่งอาหารรูปแบบใหม่เช่นเดียวกันนี้ คือการส่งอาหารแบบ “Contactless Delivery” เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสติดต่อกันทางกายภาพระหว่างลูกค้า และพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ พร้อมจับมือกับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารยกระดับการดูแลความสะอาดในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมอาหาร และภาชนะในการบรรจุอาหาร โดยแกร็บแนะนำให้ผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านแกร็บเพย์ลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อโรค
โดยเปิดเผยว่า การให้บริการส่งอาหารรูปแบบดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการควบคุมโรคระบาดตามมาตรฐานสากล ในการเว้นระยะห่างที่เหมาะสมจากผู้อื่น (social distancing) โดยจะเริ่มประกาศใช้มาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป นอกจากนี้ แกร็บยังได้ยกระดับการดูแลสุขอนามัยของพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่้ด้วยการจัดหาหน้ากากอนามัย รวมถึงร่วมกับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารในการดูแลความสะอาดของการเตรียมอาหาร และภาชนะที่ใช้ในการส่งอาหารด้วย
สำหรับขั้นตอนแนะนำในการส่งอาหารแบบไร้การสัมผัสที่ผู้ขับขี่ และผู้บริโภคสามารถปฏิบัติตามมีดังนี้
– ลูกค้าระบุจุดรับ–ส่งอาหารผ่านการส่งข้อความทางแชท
– ผู้ขับขี่แกร็บฟู้ดแจ้งลูกค้าเมื่อเดินทางถึง เมื่อผู้ขับทำการส่งอาหารในจุดที่แจ้งไว้ให้วางอาหารไว้บนกระเป๋าส่งอาหาร และรอให้ลูกค้าออกมารับโดยทิ้งระยะห่างระหว่างผู้ขับ และลูกค้า 2 เมตรซึ่งผู้ขับจะต้องหมั่นทำความสะอาดหรือล้างมือก่อนสัมผัสบรรจุภัณฑ์เสมอ
– ในกรณีลูกค้าต้องการให้ผู้ขับฝากอาหารไว้ที่หน้าประตูบ้าน หรือสถานที่ที่ต้องการเช่น ล็อบบี้ ลูกค้าสามารถระบุได้ผ่านข้อความทางแชท
– แนะนำให้ลูกค้าเลือกวิธีชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทางแกร็บเพย์ (GrabPay) เพื่อลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่อาจสะสมมากับธนบัตร
– หากมีความจำเป็นต้องชำระด้วยเงินสด แนะนำให้ลูกค้านำเงินใส่ซองและวางไว้บริเวณจุดส่งอาหาร โดยให้ทุกฝ่ายเว้นระยะห่างระหว่างกัน 2 เมตรตลอดเวลา
ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ในระหว่างขั้นตอนการนำส่งอาหาร แกร็บยังรณรงค์ให้ลูกค้าลดการจับต้องเงินสดด้วยการชำระเงินผ่านแกร็บเพย์เมื่อเรียกใช้บริการต่างๆ ของแกร็บ ไม่ว่าจะเป็น บริการด้านการเดินทาง การส่งของ การสั่งอาหาร ตลอดถึงการเติมเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อความรวดเร็ว สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันผู้บริโภคทุกคนควรรับประทานอาหารที่สดใหม่ สะอาด และอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทุกมื้อ แม้ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น รวมทั้งการดูแลสุขอนามัยของตนเองเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 รวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย