จากที่มีการรายงานว่า คณบดีคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัย นำเสนอข้อมูล และความจำเป็นในการล็อคดาวน์ประชาชนให้อยู่บ้าน ระหว่างการประชุมวางแผนติดตามควบคุมโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข ในวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
พบว่า คณะแพทย์ ได้นำเสนอแนวทางการป้องกันการระบาดของโรค ในชื่อว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โดยระบุว่า ถ้าหากดำเนินมาตรการแบบเดิมที่ทำอยู่ในปัจจุบันไปอีก 30 วัน คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วย COVID-19 จะสูงถึง 351,948 ราย ทั้งยังจะมีผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 52,792 ราย อยู่ไอซียู 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 ราย
แต่ถ้าหากใช้มาตรการ ล็อคดาวน์ (Lockdown) ให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยจะอยู่แค่ 24,269 ราย นอนโรงพยาบาล 3,640 ราย รักษาตัวในไอซียู 1,213 ราย และเสียชีวิต 485 ราย
นอกจากนี้ยังพบว่าในระหว่างการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมรับแนวคิดเรื่องการประกาศใช้มาตรการสนับสนุนให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ควบคุมดูแลตัวเองให้เข้มงวดมากขึ้น ตามข้อเสนอของคณะแพทย์ เพื่อช่วยลดปริมาณจำนวนผู้ป่วย
ซึ่งล่าสุด นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ออกแถลงการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสประจำวันที่ 20 มีนาคม 2563 พร้อมเน้นย้ำว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้ประชาชนพักอยู่ที่บ้าน ช่วยกันงดเดินทางไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด หรือเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน
ขณะเดียวกัน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในเรื่องมาตรการต่างๆ โดยขอให้ประชาชนอย่ายึดติดกับคำว่าปิดประเทศ ส่วนการจะปิดกรุงเทพมหานคร จะมีผลกระทบจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่ยาก จึงเลือกใช้วิธีที่สามารถควบคุมเชื้อทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลได้ พร้อมกับรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อีกด้วย