สำหรับปี 2563 นอกจากผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ยังมีผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง การระบาดของโควิด-19 (COVID-19) การส่งออกที่ลดลง การผันผวนของค่าเงินบาท และงบประมาณที่ล่าช้า ที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดแรงงานและการจ้างงาน ขณะที่ปัญหาการลดอุบัติเหตุทางถนน การศึกษา ฝุ่นละออง PM2.5 ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและรอการแก้ไขอย่างตรงจุด
4 ปัจจัยเสี่ยง กระทบเศรษฐกิจปี 63
โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวม ปี 2562 ว่ามีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ หนี้สินครัวเรือนชะลอการขยายตัว การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง ขณะที่ภาพรวมทั้งปีการตายและบาดเจ็บพิการด้วยอุบัติเหตุทางถนนยังมีจำนวนมาก
ซึ่งความเคลื่อนไหวข้างต้น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อเนื่องในปี 2563 โดยเฉพาะอัตราการจ้างงาน โดยแนวโน้มสถานการณ์ด้านแรงงานปี 2563 มี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะกระทบต่อตลาดแรงงานและการจ้างงาน ได้แก่
1. ภาวะภัยแล้งในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานในภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร
โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าภัยแล้งในปี 2563 มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี และจากข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมทั้งประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม อยู่ที่ 18,359 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 25.9% ของความจุระดับเก็บกักน้ำรวม นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
2. ผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ต่อการจ้างงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยตรง หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน
ในสาขาบริการหลัก 3 สาขา คือ สาขาการค้าส่งและค้าปลีก สาขาการขนส่ง และสาขาโรงแรมภัตตาคาร และอาจจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม
3.แนวโน้มการส่งออกและการผันผวนของค่าเงินบาท จากประมาณการของ สภาพัฒน์ การส่งออกในปี 2563 จะขยายตัวได้ 1.4% และค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มผันผวน จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออก
4.ความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562-มกราคม 2563) มีการเบิกจ่ายงบลงทุนเพียง 31,764 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 507,629 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.3% ซึ่งความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนในโครงการใหม่ จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ และจะส่งผล กระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานโดยเฉพาะในสาขาการก่อสร้าง
ต้องเฝ้าระวัง โรค-การเจ็บป่วย
สำหรับปี 2563 นอกจากจะต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 (COVID-19 : Corona Virus Disease 2019) ยังต้องให้ความสำคัญต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังที่ต่อเนื่องจากปี 2562 ทั้งโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ไข้หวัด โรคปอดอักเสบ และจากยุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก และซิคุนกุนยารวมถึงโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่สามารถป้องกันได้ อาทิ ความดันโลหิตสูงเบาหวาน ฯลๆ และโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เฝ้าระวังอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า
ตลอดปี 2562 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัว 3.3% โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัว 4.5% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัว 1.5% อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ระบุว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคืออันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า และการเข้าถึงบุหรี่ของเด็ก เนื่องจากพบว่าเยาวชนไทยยังมีความสับสนในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยเข้าใจว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอดและช่วยให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันร้านค้าส่วนใหญ่ไม่ตรวจสอบอายุของลูกค้าก่อนขายบุหรี่ ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ยังสามารถเข้าถึงบุหรี่ ได้ง่าย
อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ การให้ความสำคัญต่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในทุกกรณี เนื่องจากปี 2562 มีคดีอาญารวมเพิ่มขึ้น 23% ภาครัฐจึงต้องมุ่งเน้นจับกุมในระดับพื้นที่ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอาชญากรรม ยาเสพติด การพนัน การค้าประเวณี สถานบริการ การค้ามนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมระบบกระบวน การยุติรรรมทางเลือก
เร่งลดอุบัติเหตุทางถนน
แม้ว่าการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่ 2563 จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือ สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตได้ 9.8% และ 19.4% ตามลำดับ แต่สภาพัฒน์ยังคงมองว่า การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนยังต้องเร่งดำเนินการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในทุกมิติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี โดยตั้งเป้าหมายลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดการตาย เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันให้ความสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางถนนจากทุกภาคส่วนแบบองค์รวม ใช้กลไกระดับพื้นที่ในลักษณะยืดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) เสริม “จุดจัดการพื้นที่”
เร่งพัฒนา การศึกษาไทยให้ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ต้องเร่งพัฒนา เนื่องจากการวัดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาในระดับนานาชาติของไทย อาทิ IMD ด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 56 จาก 63 ประเทศ ซึ่งอยู่อันดับรองสุดท้ายของประเทศในอาเซียน ส่วนการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA 2018) มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะด้านการอ่านอยู่ลำดับที่ 66 จาก 79 ประเทศ (393 คะแนน) ซึ่งอยู่อันดับต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาในระดับเดียวกัน
สำหรับข้อค้นพบที่สำคัญจากผลการประเมิน PISA คือ ความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อคุณภาพการศึกษา โดยกลุ่มนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี และอยู่ในโรงเรียนที่มีการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่เพียงพอ จะมีผลคะแนนมากกว่ากลุ่มนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ด้อยกว่าอย่างมาก อาทิ นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์และโรงเรียน สาธิตมีระดับคะแนนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนในกลุ่มสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่า สามารถทำคะแนนการอ่านอยู่ในกลุ่มเปอร์-เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไปมีจำนวนถึง 13%
ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยด้านการสนับสนุนจากผู้ปกครอง บรรยากาศเชิงบวกในโรงเรียน และกรอบความคิดแบบเติบโตของนักเรียนซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาส่วนหนึ่งของไทยมีคุณภาพและสามารถพัฒนาไปในระดับที่สูงได้ หากมี นโยบายที่สร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา โดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้
ปิดท้ายที่ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐานยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีผลต่อสุขภาพของประชาชน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องการการจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยสภาพัฒน์ระบุว่า การรับรู้ปัญหาอย่างตรงจุด การสื่อสารและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนการจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ยั่งยืน
เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกมา กระทบอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกปีหนึ่งที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และหากจะเข็นตัวเลขเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยให้โตได้ 2% ตามที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ ภาครัฐคงต้องเข้าถึงปัญหาที่แท้จริง และมีมาตรการกระตุ้นที่ถูกต้อง ตรงจุด ต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ปัญหาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ