Golden Period (เวลาทอง) คือศัพท์ทางการแพทย์ที่ถูกกล่าวขึ้นมาในแถลงการณ์ช่วงหนึ่งของกระทรวงสาธารสุขเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และยังมีการนำกราฟที่เปิดเผยข้อมูลตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับของประเทศอื่น โดยเป็นพล็อตกราฟที่ใช้ข้อมูลสถิติเชิงวิทยาศาสตร์มาคำนวนจากยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อตั้งต้นที่ 100 ราย ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นไปแบบทวีคูณ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีดังนี้
1. ยอดพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว จนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน อย่างประเทศอิตาลี, อเมริกา, อังกฤษที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพของประเทศตัวเอง
2. ยอดพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ก่อนจะลดลงมาอยู่ในภาวะคงที่ และสามารถรับมือได้ อาทิเช่นประเทศสิงคโปร์, ไต้หวัน, และญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากความมีวินัยของประชาชน และมาตรการรับมืออย่างทันท่วงทีของประเทศ
โดยตามข้อมูลวันที่ 23 มีนาคม 2563 รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ที่ 721 ราย ซึ่งพอนำมาวางเทียบอยู่บนพล็อตกราฟตามสถิติที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น สถานการร์ของประเทศไทยตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วง Golden Period (เวลาทอง) ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวที่ทุกอย่างยังอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ และจะก้าวเข้าสู่ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่ 2 คือจำนวนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะเบนมาอยู่ในจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุม
แต่ทั้งนี้ทางนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ก็ยังได้กล่าวว่าหนทางสู่ทางเลือกที่ 2 แบบประเทศไต้หวัน, สิงคโปร์, และญี่ปุ่นนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการประพฤติตัวอย่างมีความรับผิดชอบกับตัวเอง และสังคมของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการกักตัวอยู่กับบ้าน, ลดการเข้าไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ, รักษาระยะห่างจากคนรอบข้าง ฯลฯ เพราะฉะนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนอย่างแท้จริง และกระทรวงสาธารณสุขทำได้เพียงคอยค้นหาผู้ติดเชื้อ, การรักษา, และให้ยาแก่ผู้ที่ได้รับการติดเชื้อแล้วเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ คือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุนั่นเอง จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ปฎิบัติตามมาตรการที่หน่วยงานต่างๆ ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด และยังไม่อยากต้องบีบบังคับประชาชนถึงขั้นที่ต้องล็อกดาวน์เมืองแบบเบ็ดเสร็จ
อีกทั้งนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ยังได้แสดงความเป็นห่วงถึงประชาชนที่ทำการเดินทางกลับภูมิลำเนาว่าให้ระมัดระวังตัวเอง และทำการรายงานตัวกับกักตัวตามข้อกำหนดของหน่วยงานภายในพื้นที่ตัวเอง ด้วยหวังอย่างยิ่งว่ากราฟจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศ จะไม่ออกไปทางที่พุ่งสูงจนเกินควบคุมแบบประเทศแถบยุโรปในตอนนี้
————————————————————
Writer : Thamonton Jang