พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาถึงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า
ที่ประชุมมีความเห็นชอบออกประกาศ กทม. สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 5 โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ ให้ร้านค้าทุกร้านค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงรถเข็นขายอาหารข้างทาง ปิดทำการตั้งแต่เวลา 24.00 -05.00 น. โดยจะมีผลบังคับตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป
ในส่วนของวินจักรยานยนต์รับจ้างและคนส่งอาหารเดลิเวอรี่ของทุกกิจการกรุงเทพมหานครจะออกข้อกำหนดให้ทุกคนปฏิบัติตามส่วนกรณีที่กระทรวงมหาดไทยมีข้อแนะนำให้อนุญาตเปิดร้านหรือศูนย์ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเขตพื้นที่กรุงเทพฯได้นั้นทางคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้พิจารณาแล้วและมีความเห็นว่าจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อดังนั้นจึงมีมติไม่ให้เปิดศูนย์บริการและร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือ
อย่างไรก็ดี ผู้ว่า กทม. ยืนยันว่า กทม.จะไม่ประกาศเคอร์ฟิว เพราะการประกาศเคอร์ฟิวไม่ใช่อำนาจของ กทม. แต่เป็นอำนาจของ ศบค. ที่จะดำเนินการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ส่วนต่างจังหวัดที่ประกาศออกมานั้น ไม่ได้เป็นการเคอร์ฟิว แต่เป็นการขอความร่วมมือให้ประชาชนไม่ออกจากบ้าน หรือออกจากบ้านน้อยที่สุด
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครฯ ขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามประกาศ กทม. เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวอย่างเคร่งครัดรวมถึงลดการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการรวมตัวของประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยงขอให้อยู่ที่บ้าน
สำหรับกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อแล้วแสดงอาการน้อยมาก หรือไม่แสดงอาการเลย ซึ่งนโยบายที่จะลดการทำงาน ให้ทำงานที่บ้าน หรือให้หยุดงาน อาจจะต้องเข้มข้นมากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่กลุ่มคนดังกล่าวจะแพร่กระจายเชื้อโรคต่อ และหากมีความจำเป็นหรือสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การเคลื่อนย้ายคน หรือการเคลื่อนย้ายในรูปแบบต่างๆ อาจจะต้องเข้มงวดมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ขณะที่ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. ได้แถลงข่าวที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า กทม. มีมาตรการเยียวยาตลาดภายใต้การดูแลของ กทม. โดยจะยกเว้นค่าเช่าแผง ห้องสุขา และที่จอดรถ ทั้ง 10 แห่ง เช่น ตลาดเมืองมีน ตลาดธนบุรี ตลาดเทวราช ตลาดประชานิเวศน์ 1 ตลาดหนองจอก ตลาดบางกะปิ ตลาดพระวงเวียนเล็ก ตลาดรัชดาภิเษก ตลาดสิงหา และตลาดราษฎร์บูรณะ ตั้งเดือน มี.ค. จนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ส่วน ตลาดนัดจตุจักร กทม. จะทำหนังสือไปถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อขอยกเว้นค่าเช่า เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค – พ.ย.2563
นอกจากนี้ สวนสาธารณะทั้งของรัฐ และเอกชนที่ก่อนหน้านี้อนุโลมให้เข้าใช้บริการได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และบางแห่งใช้เป็นที่รวมตัวทำกิจรรมใกล้ชิดกัน ดังนั้น กทม. จึงขอปิดสวนสาธารณะ ไม่เว้นแม้แต่ในคอนโด ชุมชน และหมู่บ้าน หรือเอกชน ซึ่งประกาศทั้งหมดจะมีผลในตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. ถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า กทม. เข้าใจว่ามาตรการต่างๆ อาจจะไม่สะดวกต่อประชาชน แต่ขอให้เข้าใจว่าเราต้องลดการรวมตัวกันให้อยู่กับบ้านมากขึ้น และขอให้คำมั่นสัญญาว่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด โดยทุกสถานที่ปิดจะมีการประเมินตลอด หากหลักฐานทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น สถิติน้อยลงเราจะพิจารณาเปิดให้เร็วที่สุด
สำหรับ ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 5) มีคำสั่งดังนี้
1.ให้ยกเลิกข้อ 1 ของประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉนับที่ 4)
ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563
2.ให้ปิดสถานที่ดังต่อไปนี้เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
2.1 ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่อยู่ในคูหา รถเข็น และแผงลอยจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม (ให้เปิดได้ตั้งแต่เวลา 05.01 น. ถึงเวลา 24.00 น. และเฉพาะการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรมที่ให้บริการฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม หรือจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ยกเว้นร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามบิน และโรงอาหารในโรงพยาบาล สามารถจัดที่นั่งในการรับประทานอาหารได้)
2.2 ร้านสะดวกซื้อ ชุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านลักษณะเดียวกับร้านสะดวกซื้อ ให้ปิดตั้งแต่ เวลา 00.00 น. ถึงเวลา 05.00 น.
3.สวนสาธารณะทุกแห่ง ทั้งของรัฐ และเอกชน
สำหรับ สถานที่ที่ได้รับยกเว้นตามประกาศนี้ หรือสถานที่อื่นนอกเหนือจากประกาศนี้ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนต และข้อ 31 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563
กรณีหากมีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ