Saturday, June 10, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    “อยากตาย” Track เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงเยาวชนเป็นซึมเศร้า

    รายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2563 (Thai Health Watch 2020) ที่จัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยว่าทุกวันนี้วัยรุ่นในสังคมไทยต้องแบกรับความรู้สึกกดดันต่าง ๆ มากมาย จนเกิดเป็นการเผชิญภาวะเครียดหรือซึมเศร้า ซึ่งนำมาสู่พฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง ตลอดจนร้ายแรงไปถึงขั้นการฆ่าตัวตายหลายเคส


    เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด สำรวจปัญหาที่วัยรุ่นไทยต้องเจอในสังคม

    ทุกวันนี้วัยรุ่นในสังคมไทยต้องแบกรับความรู้สึกกดดันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนในครอบครัว, ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง, ฯลฯ โดยข้อมูลจากสายด่วนสุขภาพจิต เผยว่าปัญหาหลัก ๆ ที่เยาวชนโทรศัพท์มาขอคำปรีกษาคือ ความเครียดและความวิตกกังวล, ปัญหาความรัก, ปัญหาซึมเศร้า, และปัญหาครอบครัว โดยอัตราส่วนวัยรุ่นไทยที่เป็นโรคซึมเศร้าจะอยู่ที่ราว 3 คน ใน 100 คน หรือ 3% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยวัยรุ่นทั่วโลก ซึ่งอยู่ระหว่าง 10-15% แต่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่า ปัญหาของการที่วัยรุ่นไทยเป็นโรคซึมเศร้าคือดูออกได้ยากกว่าวัยอื่น ๆ แต่อย่างน้อยก็ยังพบแนวโน้มที่เด็ก และเยาวชนเข้ารับบริการปรึกษาเพิ่มขึ้นผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จาก 10,298 ครั้ง ในปี 2561 มาเป็น 13,658 ครั้ง แค่เฉพาะครึ่งแรกของปี 2562

    ทวิตเตอร์ ภัยเงียบของสื่อที่วัยรุ่นใช้ระบายความรู้สึกซึมเศร้า

    ด้วยกิมมิคอย่างหนึ่งของโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ ที่สามารถระบายความรู้สึกอึดอัดในใจได้ด้วยข้อความสั้น ๆ จนเกิดเป็นแฮชแท็กยอดนิยมอย่าง #ซึมเศร้า ที่แม้ด้านหนึ่งจะช่วยสร้างการให้กำลังกับคนวัยรุ่นที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้านั้น แต่ในมุมกลับ ถือเป็นการให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่นที่กำลังเผชิญภาวะซึมเศร้า โดยปราศจากความรู้ในการแนะนำที่ถูกต้อง โดยระหว่างเดือนก.ค. 61 – มิ.ย. 62 พบว่ามีการพูดถึง “ปัญหาซีมเศร้า” ในทวิตเตอร์กว่า 140,000 ข้อความ โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุนักเรียน และนักศึกษาฆ่าตัวตายหลายครั้ง ช่วงเดือนมีนาคม 2562 และยังไม่นับรวมการพูดถึงปัญหานี้ในโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ และสังคมไทยจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขให้ได้โดยเร็ว

    โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพฤติกรรมการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ พบว่า 3 ปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะเครียดหรือซึมเศร้ามากที่สุดในหมู่วัยรุ่นจะเป็น

    1. ความสัมพันธ์ในครอบครัว (60%)

    2. หน้าที่การงาน (32%)

    3. ปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง (7%)

    “อยากตาย” Track เฝ้าระวังวัยรุ่นคิดสั้น

    จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่น ที่ใช้ในการระบายความรู้สึกเครียด หรือซึมเศร้าพบว่าช่วงเวลาที่วัยรุ่นโพสต์ข้อความ “อยากตาย” ที่มีความถี่มากที่สุดคือสื่ออย่าง ทวิตเตอร์ โดยช่วงเวลาที่มีการโพสต์เยอะที่สุดจะเป็นวันอังคาร เวลา 22:00 น. และวันศุกร์ เวลา 19:00 น. โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้เผยว่าหากมีใครสักคนรับฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้สำเร็จถึง 50% ทางหน่วยงานจึงได้มีการจัดกำลังคนผ่านสายด่วนในช่วงเวลาดังกล่าว หรือมีการโพสต์ให้กำลังใจโดยใช้แฮชแท็ก #ซึมเศร้า ผ่านสื่อทวิตเตอร์ และสื่ออื่น ๆ ที่จะเข้าถึงวัยรุ่น ซึ่งพบว่าช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของวันรุ่นลงได้