“แหล่งท่องเที่ยวปิด ทะเลไร้นักท่องเที่ยว เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ชายฝั่งอันดามัน รวม 11 รัง”
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้ปิดลงเนื่องจากรัฐบาลขอความร่วมมืออยู่บ้านเพื่อชาติและงดการเดินทางการออกไปท่องเที่ยวตามชายหาดท่องเที่ยว
เป็นผลดีในการลดผลกระทบจากการรบกวนกับการขึ้นมาวางไข่ การฟักไข่ของเต่าทะเลหายาก โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง ในช่วงเพาะฟัก และช่วงที่ลูกเต่ามะเฟืองฟักจากไข่ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น มีสมาธิ และไม่ต้องรับแรงกดดันให้ต้องช่วยเหลือลูกเต่าผิดธรรมชาติจนเกินไป
“ลูกเต่ามะเฟืองเกิดใหม่มากสุดในรอบ 2 ทศวรรษ”
ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ตามแนวชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา รวม 11 รัง ก่อนที่ลูกเต่ามะเฟืองจะทยอยฟักออกมาและพากันคลานลงสู่ทะเลตรงกับช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดหนักไปทั่วประเทศ ลูกเต่ามะเฟืองเกิดใหม่ในฤดูนี้มีปริมาณมากกว่าฤดูไหนๆ ในรอบกว่า 2 ทศวรรษ
สำหรับปรากฏการณ์ฤดูวางไข่ ตั้งแต่กลางเดือน พฤศจิกายน 2562 มีรายงานว่าพบแม่เต่ามะเฟือง 4 – 5 ตัว ขึ้นวางไข่ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ หาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา, หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา, เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และหาดทรายแก้ว–หาดไม้ขาว–หาดในทอน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รวมทั้งหมด 11 รัง (ถูกขโมย 1 รัง) แต่ละรังมีไข่ 60 – 120 ฟอง โดยรังแรกเกิดขึ้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 และรังสุดท้ายเกิดขึ้น 10 กุมภาพันธ์ 2563 ระยะฟักไข่จะอยู่ในช่วง 54 – 65 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของหลุมทราย
นายโสภณ ทองดี กล่าวว่าปัจจุบันเต่ามะเฟืองตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบจากการทำประมง แหล่งวางไข่ถูกรบกวนจากการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว การลักลอบเก็บไข่เต่า และขยะทะเล ซึ่งที่ผ่านมานายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดเวรยามเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย พร้อมจัดทีมนักวิชาการลงพื้นที่ และติดตั้งระบบติดตามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
ซึ่ง ทส. ได้ให้ความสำคัญกับสัตว์ป่าสงวน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด โดยเตรียมหามาตรการและประสานความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนรวมถึงสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป
“พบสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่นว่ายน้ำขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ”
นอกจากนี้ สำนักอุทยานแห่งชาติ ยังเปิดเผยรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม สำรวจติดตามประเมินสถานภาพพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก โดยการเฝ้าสังเกตทางเรือ และการบิน Drone สำรวจบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหาดหยงหลำหาดหยงหลิงและเกาะมุกด์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
เบื้องต้นพบพะยูนจำนวน 4 ตัว โลมาจำนวน 4 ตัว และเต่าทะเลจำนวน 8 ตัว โดยพะยูนพบบริเวณระหว่างหัวแหลมหาดหลงหลำกับเกาะมุกด์ ขณะที่เต่าทะเลพบแพร่กระจายตั้งแต่หาดหยงหลำจนถึงสะพานเกาะมุกด์ มีพฤติกรรมว่ายน้ำโผล่ขึ้นมาหายใจ ส่วนโลมาพบบริเวณหาดหยงหลิง มีพฤติกรรมว่ายน้ำโผล่ขึ้นมาหายใจ และบิดตัวขณะกระโดด
ซึ่งจากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนอาสาสมัครและภาคประชาชนท้องถิ่น ในปี พ.ศ. 2562 พบพะยูนในทะเลตรัง จำนวน 185 ตัว ถือเป็นแหล่งที่มีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดของประเทศไทย โดยจากการสำรวจทั่วประเทศ พบพะยูน จำนวน 261 ตัว