Wednesday, September 27, 2023
More

    วิจัยเผยคนฆ่าตัวตายจากผลกระทบของโควิด-19 สูงถึง 38 ราย

    กลุ่มนักวิจัยจาก 6 มหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมกันทำวิจัยโครงการคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้แถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิต และคนที่ฆ่าตัวตาย ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมออกข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก่รัฐบาลต่อไป


    ผลกระทบต่อประชาชนจากมาตรการของรัฐ ในการรับมือกับโควิด-19

    จากการใช้มาตรการอย่างเข้มงวดในการควบคุมโรคเช่นนโยบายการปิดห้างสรรพสินค้า, การปิดตลาดนัด, เคอร์ฟิว ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้สังคมไทยสามารถรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้มีการปรากฎข่าวการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีข้อมูลที่แสดงได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลกระทบสือเนื่องมาจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 และเนื่องจากมาตรการของรัฐที่มุ่งเน้นการจัดการด้านสาธารณสุข แต่ละเลยการจัดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที ทางคณะนักวิจัยจึงมีสมมติฐานว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนเกิดตามมาอย่างชัดเจน และรุนแรงภายใน 1 สัปดาห์

    โดยได้มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2563 เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชนที่มีการรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย และมีข้อมูลรายละเอียดที่ยืนยันหรือแสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายนั้น มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐในวิกฤตครั้งนี้

    คนฆ่าตัวตายสำเร็จ และพยายามฆ่าตัวตาย มีจำนวนเท่ากับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19

    จากการรวบรวมข้อมูล พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน และอีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 กับผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบาย และมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (1-21 เม.. 63) จะพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากันคือ 38 ราย แต่พบว่ารัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ ทั้ง ๆ ที่การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฎกรรมที่สามารถป้องกันได้หากรัฐบาลมีมาตรการ และกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวในการจัดการของรัฐอย่างรุนแรง จนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจฆ่าตนเอง เพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่

    โดยหากพิจารณาในรายละเอียดของผู้ที่ทําการฆ่าตัวตาย

    • เพศชาย จํานวน 27 ราย เพศหญิง จํานวน 11 ราย
    • เป็นลูกจ้าง / ผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เช่นพ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, และช่างเชื่อม เป็นต้น
    • เป็นผู้ประกอบการ / เจ้าของธุรกิจรายย่อย จํานวน 3 ราย
    • อายุเฉลี่ย 40 ปี

    จะพบว่าสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐ คือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนจนเมืองซึ่งต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที และผู้ประกอบการรายย่อยก็เป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายยังเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทํางาน และมีบทบาทสําคัญในการรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับการตกงานหรือไม่มีงานทําอย่างเฉียบพลันก็นํามาซึ่งแรงกดดันมหาศาลทั้งต่อตนเอง และครอบครัว

    ข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากวิกฤตโควิด-19

    จากข้อมูลที่ได้รวบรวม และนำเสนอเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่คณะนักวิจัยจาก 6 มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันทำขึ้นมานั้น ได้มีการเสนอการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลไว้ดังนี้

    1. รัฐบาลต้องตระหนักว่าการฆ่าตัวตายของประชาชน เป็นผลมาจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่กลับไม่มีมาตรการในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที และครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม

    2. รัฐบาลต้องปรับการให้เงินเยียวยาในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้กว้างขวางและรวดเร็ว บนฐานคิดช่วยเหลือให้ถ้วนหน้าไม่ใช่สงเคราะห์เพียงบางคน

    3. ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูง จําเป็นต้องมีการเปิดพื้นที่แบบมีการจัดการเช่น ตลาด ร้านค้ารายย่อย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทํามาหากินเลี้ยงชีวิตของตนเอง และครอบครัวได้

    4. รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จําเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน, การข่มขู่ว่าจะมีการใช้อํานาจตาม พ... การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉินต่อผู้ประสงค์จะแจกอาหาร, การจับกุมคนไร้บ้านด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ... การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

    อีกทั้งทางคณะนักวิจัยยังได้มีการกล่าวปิดท้ายไว้ในแถลงการณ์ว่าการดําเนินนโยบายที่มุ่งเน้นแต่การควบคุมโรคโดยปราศจากความรู้ และความเข้าใจถึงชีวิตของประชาชนคนธรรมดา อาจทําให้เราได้สังคมที่หลุดพ้นไปจากไวรัสโควิด-19 หากจะดาษดื่นไปด้วยซากศพของประชาชนในระหว่างทาง ซึ่งกรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจนับว่าสังคมไทยประสบความสําเร็จในการเผชิญหน้ากับการรับมือกับโรคร้ายครั้งนี้แต่อย่างใด