Wednesday, October 4, 2023
More

    Doc Club ชวนมองผลเสียของ CPTPP ผ่านสารคดี SEED : The Untold Story

    Documentary Club ปล่อยสารคดี SEED : The Untold Story ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสำคัญของ “เมล็ดพันธุ์” ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของมัน หลังจากที่รัฐได้ออกวาระการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ซึ่งผลเสียหายอย่างหนึ่งของข้อตกลงนี้ คือเรื่องของการทำเกษตรกรรมในประเทศ ที่เป็นหนึ่งในอาชีพหลักของคนไทย ที่อาจจะต้องล้มครืนหมดหากรัฐบาลเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP จริง ๆ


    SEED : The Untold Story สารคดีว่าด้วยความสำคัญของเสรีภาพในการเก็บและปลูก “เมล็ดพันธุ์”

    สารคดี SEED : The Untold Story หรือในชื่อภาษาไทย “เรื่องลับเร้นของเมล็ดพันธุ์” คือสารคดีความยาว 1 ชั่วโมง 34 นาที ที่กำกับโดย Jon Betz กับ Taggart Siegel ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์กว่า 12,000 ปี ของเมล็ดพืชพันธุ์ ที่เปรียบดังทองคำสำหรับบรรดาเกษตรกรระดับท้องถิ่น การส่งต่อเมล็ดพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น บทบาทของเมล็ดพันธุ์ในด้านการเมือง กฎหมาย สงคราม การผูดขาดการถือครองของบรรษัทเอกชน ฯลฯ จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ และการดำรงไว้ซึ่งความหวังในการรักษาเสรีภาพของการเก็บ และปลูกเมล็ดพันธุ์ โดยกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะระดับรากหญ้า เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในประเทศต่อไป

    ชมสารคดี SEED : The Untold Story ได้ฟรีที่ลิงค์ https://vimeo.com/ondemand/docclubseed/
    (สามารถลงทะเบียนด้วยอีเมล หรือลิงค์เฟสบุ๊กสำหรับคนที่ยังไม่มีบัญชีผู้ใช้ Vimeo)

    ภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบอย่างไร หากรัฐเข้าร่วม CPTPP

    หลังมีกระแสเรื่องการที่รัฐบาลจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อสร้างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จนเกิดกระแสต่อต้านจากองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ และ #MobFromHome นั้น หากเรามองย้อนกลับไปจะพบว่าประเด็นนี้ ได้เคยมีการถูกหยิบยกมาพูดถึงแล้วอย่างน้อย ๆ ก็ครั้งหนึ่ง ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “วิเคราะห์ CPTPP หลังสหรัฐอเมริกาถอนตัว ประเทศไทยควรเข้าร่วมหรือไม่” เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่จัดโดยศูนย์วิจัยและควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กยพ.) จุฬาฯ และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งในงานก็ได้มีนักวิชาการจากหลากหลายสาขาร่วมวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย และจุดพึงระวังสำหรับข้อตกลงดังกล่าว

    โดยในส่วนของภาคเกษตรกรรมพบว่าข้อตกลง CPTPP มีเงื่อนไขสำคัญคือถ้าประเทศใดเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธ์ุพืชใหม่ หรือ UPOV 1991 อย่างไม่มีข้อหลีกเลี่ยง ซึ่งที่ผ่านมากรมวิชาการการเกษตรก็มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธ์ุพืช 2542 ให้สอดคล้องกับ UPOV 1991 และหากเป็นไปตามนั้นก็จะเกิดผลกระทบคือเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ และหากละเมิดจะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท นอกจากนั้นสิ่งที่จะเกิดตามมาคือการขยายการผูกขาดเมล็ดพันธุ์มากขึ้น มีบริษัทพัฒนาเมล็ดพันธุ์มากขึ้น ทั้งกฎหมายนี้ยังครอบคลุมตั้งแต่ส่วนขยายพันธ์ุ ผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากผลผลิตนั้น ๆ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้โจรสลัดชีวภาพในการใช้เมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์อีกด้วย