Tuesday, December 6, 2022
More

    กรมควบคุมมลพิษเผย 64% ของขยะทั้งหมดในไทย เป็นขยะอาหาร

    จากข้อมูลของ UN’s World Population Prospects 2019 เผยว่าในขณะที่หลายประเทศเผชิญกับปัญหาผู้คนป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป ยังมีคนในอีกหลายประเทศที่ขาดแคลนอาหาร โดยแต่ละปีมีคนทั่วโลกกว่า 36 ล้านคน ต้องเสียชีวิตเพราะความหิวโหย ซึ่งที่มาของปัญหานี้เกิดจากการที่ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้จะกลายเป็น “ขยะอาหาร” ซึ่งยังสามารถรับประทานได้ และควรนำไปให้แก่ผู้หิวโหยที่กำลังอดอยาก

    ขยะอาหาร ภัยความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย

    แม้จะพบว่าเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกิน แต่หากมองลงไปยังสถิติจะพบว่าสังคมยังมีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนอาหารอยู่มากทีเดียว โดยดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดเผยข้อมูลช่วงปลายปี 2561 ว่าพบเด็กไทยราว 400,000-600,000 คน กินอาหารไม่เพียงพอ เพราะครอบครัวยากจน ขณะที่เด็กในเมือง 10% กำลังเผชิญกับภาวะอ้วน จึงจะเห็นได้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การผลิตอาหารไม่พอ แต่อยู่ที่การจัดสรรให้ทุกคนเข้าถึงอาหารได้อย่างเท่าเทียม


    โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษเผยในปี 2560 พบว่า 64% ของขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นขยะอินทรีย์ คิดเป็นปริมาณรวม 17.6 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับเครื่องบินโดยสารลำใหญ่อย่าง Airbus A380 จำนวน 63,000 ลำ ทั้งยังเป็นข้อมูลเฉพาะขยะมูลฝอยที่จัดเก็บโดยเทศบาล และยังไม่นับรวมถึงขยะมูลฝอย หรืออาหารส่วนเกินที่ภาคธุรกิจจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาจัดการด้วย จึงสรุปได้ว่าคนไทยทุกคนจะสร้างขยะอินทรีย์ที่บางส่วนเป็นอาหารขยะเฉลี่ยปีละ 254 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย และขยะอาหารไม่ใช่แค่เศษอาหารเหลือทิ้งเท่านั้น บางส่วนยังเป็นแค่ อาหารส่วนเกิน ที่ทิ้งไม่ได้เพราะกินไม่ทัน ขายไม่ทัน หรือคิดว่าหมดอายุ ทั้งที่จริง ๆ แล้วยังสามารถรับประทานได้

    จัดการขยะอาหารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

    ในส่วนของภาคธุรกิจไทยที่ขยับตัวเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา การจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่ามีทั้งผู้ประกอบการต่างชาติที่มาทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น Tesco Lotus IKEA ฯลฯ ส่วนผู้ประกอบการไทยที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือก็จะมีเช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในเครือเซ็นทรัล เป็นต้น

    ทั้งในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ยังเคยให้เงินอุดหนุนในการจ้างที่ปรึกษาให้กับโรงแรมกว่า 10 แห่ง ซึ่งช่วยลดขยะอาหารไปไม่น้อยกว่า 10% ประมาณเงินอยู่ในหลักล้านบาท โดยใช้ทั้งวิธีการให้ความรู้พ่อครัว ลดอาหารจากการปรุง นำไปทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น สำหรับการบริจาคอาหารผ่านองค์กรกลางนั้น ในกทม. ยังมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Scholars of Sustenance (SOS) มาเป็นตัวกลางในการนำอาหารไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ โดยปัจจุบันสามารถนำอาหารส่วนเกินของภาคธุรกิจไทย และผู้บริจาคอื่น ๆ ในกทม. รวม 105 ราย ไปให้กับผู้บริจาคได้ถึงเดือนละ 31.3 ตัน คิดเป็นจำนวน 130,000 จาน ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการฝังกลบขยะได้ถึง 59.5 ตัน

    โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ยังได้ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยแพร่ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินเรียงลำดับจากที่ควรทำมากที่สุด ไปน้อยที่สุด 5 ข้อ
    1. ป้องกันการเกิดขยะอาหารจากห่วงโซ่อาหาร (Prevention)
    – ภาคเอกชนพัฒนาระบบการสั่งสินค้าเพื่อลดการสั่งสินค้าคงเหลือ
    – ภาครัฐจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะอาหารตามปริมาณ

    2. จัดสรรอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Optimization)
    – บริจาคให้ผู้ยากไร้
    – นำมาขายในราคาถูก
    – จำหน่ายเป็นอาหารสัตว์

    3. นำมาผลิตใหม่ (Recycle)
    – ทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร
    – ผลิตก๊าซชีวภาพ

    4. กำจัดเพื่อนำพลังงานมาใช้ใหม่ (Recovery)
    – เผาเพื่อผลิตพลังงานความร้อน

    5. กำจัดทิ้ง (Disposal)

    ในส่วนของภาคประชาสังคมอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยในการรับบริจาคอาหารส่วนเกิน เช่นมูลนิธิดวงประทีป เมอร์ซี เซ็นเตอร์ และมูลนิธิกระจกเงา เพียงแต่ยังทำได้ในส่วนของอาหารแห้งเท่านั้น มีเพียง SOS ที่รับบริจาคอาหารสดได้ เพราะรถบรรทุกที่มีตู้เย็น 2-4 องศาเซลเซียส