Monday, September 25, 2023
More

    กรมสุขภาพจิตแจงข้อสังเกตบทความรวมข้อมูลคนฆ่าตัวตายจากโควิด-19

    เว็บไซต์กรมสุขภาพจิตนำโดยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เผยข้อข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการวิจัย และความถูกต้องของเนื้อหา ในบทความเรื่อง “การแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิต และคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ” ที่จัดทำโดยคณะผู้วิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนมากขึ้น

    ข้อสังเกตเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย และความถูกต้องของเนื้อหาในบทความรวมข้อมูลคนฆ่าตัวตายจากโควิด-19

    กรมสุขภาพจิตได้ออกการประเมินบทความรวมข้อมูลคนฆ่าตัวตายจากโควิด-19 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน โดยชี้แจงเป็นข้อ ๆ ดังนี้


    1. งานวิจัยนี้เป็นเพียงบทวิเคราะห์สื่อ และการนำเสนอปัจจัยสาเหตุจากมุมมองของสื่อมวลชน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนหรือใช้เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทยได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วงานวิจัยด้านสุขภาพจิตต้องใช้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสุขภาพจิต

    2. การนำเสนอและวิเคราะห์เลือกแสดงข้อมูลเพียงเดือนเมษายนเท่านั้น ซึ่งขาดการเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชาชนในเดือนก่อนหน้านี้ และการนำข้อมูลเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก่อให้เกิดการตีความ และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

    3. การอภิปรายผลการวิจัยโดยขาดการทบทวนวรรณกรรม หรืองานวิจัยสุขภาพจิตที่มีมาก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีด้านสุขภาพจิต อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมากให้ประชาชน

    ทั้งนี้ในรายงานการประเมินยังกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการฆ่าตัวตายกับปัจจัยเดียวว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปี 2561-2562 พบว่าปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น มีความสลับซับซ้อน และเกิดจากกลุ่มปัจจัยที่มีการซ้อนทับกันโดยปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมที่พบได้บ่อยที่สุด คือปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาเป็น การใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวช และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงปี 2563 นั้น กรมสุขภาพจิตได้ทำการคาดการณ์ว่าตัวเลขการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอาจสูงมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปี ตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤต และปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่จะมีบทบาทมากขึ้น และอัตราส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาระบุว่าปัจจัยใดเพียงปัจจัยหนึ่ง เช่นเศรษฐกิจหรือนโยบาย เป็นเหตุแห่งการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั้น อาจก่อให้เกิดการมองข้ามความสำคัญในการจัดการกับปัจจัยอื่น ๆ ที่มีร่วม หรือมองข้ามการใช้ปัจจัยความเข้มแข็งอื่นเป็นเครื่องป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย

    ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตยังมองว่าเป็นเรื่องดี ที่นักวิจัยจากหลากหลายสาขาให้ความสนใจในการทำงานวิจัยด้านสุขภาพจิต ตรงกับเป้าหมายของกรมสุขภาพจิตที่ดำเนินงานผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพมาโดยตลอด ซึ่งหากข้อมูลมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และเกิดจากการทำวิจัยบนระเบียบวิธีวิจัยที่ได้มาตรฐานแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก โดยกรมสุขภาพจิตจะยังคงดำเนินการติดตามปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และทำงานเชิงรุกประสานกับภาคประชาสังคมในการจัดการปัญหาในทุกมิติที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในสังคมไทยต่อไป

    ซึ่งในส่วนของทาง BLT ยังได้เคยมีการนำเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่าง “เผยสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ปี 2562 เฉลี่ย 14.4 คน ต่อคนไทย 1 แสนคน มากที่สุดอันดับ 32 ของโลก” สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านกันได้ที่ลิงค์ https://www.bltbangkok.com/news/5198/?fbclid=IwAR0oPs0t4ulA_ZKrvjAmG3pUPQnsaUvhcSh7OptTVe0B44N5eE1ardgf4L8