ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ยังคงไม่คลี่คลาย จนหลายคนสงสัยว่าวิกฤตครั้งนี้จะไปจบที่ตรงไหน และสังคมเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังจากนี้ ล่าสุดทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ออกบทวิเคราะห์โดยดร.วิโรจณ์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านสาธารณสุขและการเกษตร ก็ได้ออกบทวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากโควิด-19 และคาดการณ์สิ่งที่น่าจะดีขึ้นในวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19” ด้วย
ชีวิตใหม่ของคนไทยหลังโควิด-19
ความหวังหลักอย่างหนึ่งของมนุษยชาติท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตอนนี้ คือการรอวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 เพราะตราบใดที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทย และโลกยังไม่มี “ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herdimmunity) ที่มากพอจะขัดขวางการระบาดของ COVID-19 คนไทยส่วนใหญ่ ก็ยังต้องใช้ชีวิตภายใต้ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโดยที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันเมื่อใดก็ได้ และแน่นอนว่าในวิกฤตนี้ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย ซึ่งภายในบทวิเคราะห์ของดร.วิโรจณ์ ณ ระนอง ก็ได้ทำการแบ่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบใหม่ไว้ถึง 4 ด้านตั้งแต่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ ครัวเรือน และการรักษาพยาบาล
โควิด-19 ตัวเร่งการเติบโตทางเทคโนโลยี
ด้วยความที่ตอนนี้โลกเราจะอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดอยู่แล้ว ทำให้การปรับตัวอย่างการเวิร์ก ฟรอม โฮม สามารถทำได้ง่ายขึ้นอย่างไม่ติดขัด ทั้งในส่วนของการทำธุรกรรมธนาคารออนไลน์ (Mobile Banking) ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ฯลฯ และถึงแม้ช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเคยมีความเป็นห่วงว่าผู้มีรายได้น้อยจะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่จากการที่มีการลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” จำนวนมากถึง 24 ล้านคน ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย มีความคุ้นเคยกับการใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนมากขึ้น และการรักษาระยะห่างทางกายภาพที่เชื่อว่าจะอยู่กับสังคมไปอีกสักพักนั้น การที่รัฐบาลจะเร่งผลักดันให้เทคโนโลยี 5G ขยับไปได้เร็วขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนได้รับการใช้บริการทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และราคาไม่แพงได้มากขึ้นด้วย
ระยะห่างคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทางเศรษฐกิจ
ประเทศไทยที่มีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงการท่องเที่ยวมาตลอด จะพบว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า รายได้ในส่วนนี้จะหายไปมาก ทั้งกิจการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้หลายกิจกรรม โดยเฉพาะกีฬา สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ ฯลฯ ที่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างมากขึ้น หรืออย่างในระดับท้องถิ่นอย่างรถเข็นขายอาหาร หรือผลไม้ก็อาจจะต้องเจอปัญหาเรื่องความกังวลที่มีต่อความปลอดภัยของการบริโภคมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลควรพิจารณาด้วยว่ามีกิจการอะไรที่ควรออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อป้องกันการขาดทุนชั่วคราวที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้
ระยะห่างภายในครัวเรือน
เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ทางภาครัฐควรให้ความใส่ใจมากขึ้นในวิกฤตครั้งนี้คือการจัดระยะห่างภายในครัวเรือน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในช่วงกักตัวเองของประชาชนในสังคม เพราะมีครอบครัวจำนวนมากที่ไม่ได้มีบ้านที่ใหญ่มาก การควบคุมระยะห่างภายในบ้านจึงอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ดังนั้นแม้วิกฤตครั้งนี้จะดีขึ้นจนผ่านช่วงต้องกักตัวเองกันไปแล้ว ทุกบ้านก็ยังควรต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่คนในบ้านอาจมีอาการป่วยจากโรคโควิด-19 ซึ่งภาครัฐเองนั้นควรต้องแนะนำถึงวิธีการจัดการระยะห่างในครัวเรือน และวางแผนสำหรับการเฝ้าระวัง เพื่อช่วยลดโอกาสการกลับมาระบาดของเชื้อไวรัส หลักจากประชาชนออกจากการกักตัว
การรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคโควิด-19
ในช่วงที่สถานพยาบาลส่วนใหญ่ต้องทุ่มกำลังไปยังการจัดการกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จนหลายคนอาจจะลังเลที่จะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เพราะมีความเสี่ยงที่จะเดินเข้าไปหาโรคเอง ในช่วงนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหลายโรงพยาบาล ก็เริ่มปรับใช้วิธีส่งยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้านแทน และยังมีการทดลองระบบแพทย์รักษาทางไกล (Telemedicine) ในบางพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ระบบรักษาพยาบาลโดยรวมมีประสิทธิภาพมากกว่าในระบบปัจจุบันแบบ Walk-in สำหรับผู้ป่วยบางกรณีอีกด้วย
ศักยภาพการควบคุมและรักษา COVID-19 ที่ดีขึ้นหากวิกฤตบรรเทาลง
จากบทวิเคราะห์ได้เผยว่าหากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และในประเทศไทยค่อย ๆ ลดลง ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแน่นอนอย่างน้อย 2 เรื่องจะเป็น การตรวจเชื้อ และการรักษา เริ่มจากในส่วนของการตรวจเชื้อนั้น จากการที่ไทยมีระบบการตรวจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการที่สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการขอตรวจได้ในหลายด้าน ทำให้ต่อไปก็จะมีการตรวจผู้ที่มีอาการน่าสงสัยได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีการตรวจภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับประวัติการติดเชื้อหรือความเสี่ยงในการติดเชื้อในอนาคตมากขึ้นด้วย
ทั้งในด้านการรักษานั้น นอกจากการขยายสถานพยาบาลที่ทำให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้นแล้ว ไทยก็จะยังเริ่มมีสต็อกของยาต้านไวรัสที่มีการรายงานผลการรักษาทางคลินิกที่ดีที่สุดในขณะนี้ (ถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นทดลอง รวมทั้งเรื่องความปลอดภัย) ทำให้สามารถให้ยากับผู้ที่มีอาการในระยะแรก ๆ ได้เร็วขึ้น และช่วยให้ผลการรักษาในภาพรวมที่ดีขึ้นด้วย