การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ และวางแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสคลี่คลาย โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพและสุขอนามัยเป็นหลัก และใช้เป็นมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกสูงมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ เป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากโรคระบาดทำให้ทุกคนต้องป้องกันตนเองด้วยการงดเว้นการเดินทาง เพื่อทำตามนโยบายของภาครัฐในการหยุดเชื้อเพื่อชาติ ทำให้ ททท. ต้องประเมินวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางพลิกให้เกิดโอกาสขึ้น
เตรียมพร้อมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ 1,000 แห่ง พร้อมดึงทรัพยากรธรรมชาติที่ฟื้นตัวมาเป็นจุดแข็งฟื้นฟูการท่องเที่ยว
ซึ่งการที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดและเกิดการจำกัดการเดินทางนั้น ทำให้ต้นทุนทางธรรมชาติของประเทศฟื้นฟูกลับมาดีมากขึ้น จากเดิมที่ดีอยู่แล้ว โดยหากทรัพยากรทางธรรมชาติกลับมาดีมากกว่าเดิม และมาพร้อมกับความมั่นใจด้านสุขอนามัย รวมถึงความปลอดภัยทั้งในแง่ทรัพย์สินและชีวิต ซึ่งมองว่าประเทศที่สามารถบริหารจัดการทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ ความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และทรัพย์สินชีวิตไปพร้อมกันได้ เชื่อว่าจะสามารถฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาดีดตัวขึ้น (รีบาวด์) ได้อย่างรวดเร็วแน่นอน
นอกจากนี้ ททท. ยังได้เตรียมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่ง และวางแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวไว้แล้ว ซึ่งหากไวรัสคลายตัวใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ จะดำเนินการตามแผนได้ทันที
ช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เข้าถึงมาตรการเยียวยาให้ได้มากที่สุด และตรงความต้องการ
ซึ่ง ททท. ได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ในส่วนของการดำเนินงานต่อในระยะถัดไป และหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถพยุงธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้ก่อน โดยได้พยายามหาทางช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงมาตรการเยียวยาได้มากที่สุด และตรงตามความต้องการมากที่สุด
โดยเฉพาะการเสริมสภาพคล่องผ่านมาตรการแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ของธนาคารออมสิน วงเงินกว่า 12,000 ล้านบาทให้กับธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบบ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานกับสมาคมในภาคการท่องเที่ยวกว่า 20 สมาคม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้ได้มากที่สุด
ตราสัญลักษณ์ SHA เน้นความปลอดภัยด้านสุขภาพและสุขอนามัย มาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ททท. ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเปิดตัวโครงการตราสัญลักษณ์ “Amazing Thailand Safety and Health Administration” (ตราสัญลักษณ์ SHA) ซึ่งจะใช้เป็นมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยได้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สธ. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมั่นใจมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากขณะนี้หากจะเริ่มเกิดการกลับมาเดินทางอีกครั้ง นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงคนทั่วไปจะต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพและสุขอนามัยเป็นหลัก และรูปแบบการท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นสิ่งปกติใหม่ หรือ New Normal ไทยจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมในด้านของการเพิ่มมาตรฐานในกับภาคการท่องเที่ยวไทย เพื่อรองรับการกลับมาเดินทาง และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
ซึ่งในอนาคตภาคการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ ททท. และภาคเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการทำงานของแรงงานในภาคการบริการ และมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว เพราะหากสามารถเตรียมทุกอย่างไว้ดีและพร้อมแล้ว การกลับมาฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คงทำได้ไม่ยากนัก เนื่องจากประเทศไทยยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ที่ชาวต่างชาติต้องการเดินทางมาท่องเที่ยว หากสามารถบริหารจัดการให้ภาคการท่องเที่ยวมีมาตรฐาน มีความเชื่อมั่นทั้งในแง่สุขอนามัยและความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินได้ ทุกอย่างจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว