Thursday, October 5, 2023
More

    ท่องเที่ยวไทยเผชิญความท้าทายภายใต้สภาวะ New Normal คาดสูญรายได้กว่า 1.69 ล้านล้านบาท

    แม้ภาครัฐจะมีการผ่อนคลายบางมาตรการลงบ้างแล้วในภาวะวิกฤตโควิด-19 แต่ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงเป็นภาคส่วนที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แม้ในปี 2564 จะฟื้นตัว แต่ก็ยังยากลำบากในห่วงโซ่ของภาคการท่องเที่ยว

    คาดไทยสูญรายได้ท่องเที่ยว กว่า 1.69 ล้านล้านบาท ในปี 2563

    ธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องเจอโจทย์ท้าทายสูงภายใต้สภาวะ New Normal เพราะกว่าที่บรรยากาศจะกลับมาเอื้อต่อการเดินทาง คงจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ขณะที่มาตรการภาครัฐบางประการยังจำเป็นต้องคงไว้ อาทิ การควบคุมการเดินทางเข้าออกของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย การบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อลดความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว เมื่อประกอบกับความกังวลต่อโควิด-19 และกำลังซื้อที่อ่อนแอของนักท่องเที่ยว


    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี 2563 จะยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวก (โดยรายได้ท่องเที่ยวทั้งจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเที่ยวในประเทศอาจสูญเสียไปราว 1.69 ล้านล้านบาทในปี 2563) และแม้ในปี 2564 จะฟื้นตัว ก็คงจะยังไม่กลับไปสู่สถานการณ์ก่อนโควิด-19 จึงเป็นช่วงที่ลำบากของธุรกิจในห่วงโซ่ของภาคการท่องเที่ยว

    การปรับตัวของผู้ประกอบการท่องเที่ยว

    นอกจากความท้าทายด้านตลาดแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบการให้บริการที่คำนึงถึงความปลอดภัยในทุกๆ จุดที่นักท่องเที่ยวไปใช้บริการ ทั้งระหว่างการเดินทาง การเข้าพักในโรงแรม/ที่พัก และการไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ส่งผลให้ทั้งสายการบิน ผู้ให้บริการรถทัวร์ รถโดยสารสาธารณะ บริการนำเที่ยว และโรงแรม/ที่พัก คงต้องมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ บริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลาง มีระบบเช็คอินออนไลน์ ระบบการตรวจวัดอุณหภูมิ และระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ลดการสัมผัส

    ซึ่งการให้บริการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการต้องใช้การตลาดเชิงรุกโดยเริ่มเข้าไปหาลูกค้าแทนการรอลูกค้ามาหา และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบวงจรโดยออกแบบมาเป็นอย่างดีที่สุดสำหรับลูกค้า

    ยกตัวอย่างเช่น สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแพคเกจทัวร์ ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวร่วมกับพันธมิตรอย่างสายการบินจัดให้มีบริการเที่ยวบินเฉพาะ (Charter flight) เพื่อรับลูกค้าที่มีความกังวลในการเดินทาง การจัดรถบัสที่มีมาตรฐานและปลอดภัยในการรับ-ส่งตลอดการท่องเที่ยวในไทย

    นอกจากนี้ ภายในโรงแรม/ที่พัก ควรมีการจัดพื้นที่เฉพาะเป็นสัดส่วนให้กับกลุ่มลูกค้า รวมถึงผู้ประกอบการอาจมีการนำการแสดงศิลปวัฒนธรรมมาจัดแสดงภายในโรงแรม/ที่พักเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม เช่นเดียวกับการอำนวยความสะดวกในการซื้อของที่ระลึกและสินค้าพื้นเมือง โดยให้ร้านค้าชุมชนที่ได้มาตรฐานนำสินค้ามาจัดวางเป็นตัวอย่าง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมและสามารถสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ของร้านค้าหรือผ่านทางโรงแรม/ที่พัก

    ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางด้วยตนเอง หรือ FIT ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างสายการบิน ธุรกิจรถเช่า รถรับ-ส่ง ธุรกิจนำเที่ยวแบบ One Day Trip และโรงแรม/ที่พัก จับมือร่วมกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้บริการตลอดการเดินทางท่องเที่ยวในไทย

    สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยว เช่น สวนน้ำ/สวนสนุก สวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งในช่วงนี้คงต้องมีการจำกัดผู้ที่เข้ามาใช้บริการแต่ละวัน ผู้ประกอบการคงจะต้องมีการเปิดให้บริการเป็นรอบๆ โดยให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาลงทะเบียนเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดปัญหาการมารอหน้าสถานที่

    อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการท่องเที่ยวภายใต้สภาวะ New Normal ยังเต็มไปด้วยความท้าทายสูง ประกอบกับปัญหาที่ตลาดมีจำนวนผู้ให้บริการที่มากกว่าผู้ใช้บริการหรือ Over Supply จะยิ่งกระตุ้นให้การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการที่อยู่รอดจะเป็นกลุ่มที่สามารถปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างลงตัวและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

    ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการที่มีสายป่านทางการเงินสั้นและไม่สามารถปรับตัวได้ อาจจำเป็นต้องออกจากธุรกิจหรือถูกควบรวมกิจการ

    จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไปว่า ธุรกิจท่องเที่ยวในกลุ่ม SME น่าจะได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในปีนี้คาดว่าอาจจะมีกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กทยอยปิดกิจการลงก็เป็นได้