จากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จำกัดการเดินทางของคนทั่วประเทศ ทำให้ความต้องการเดินทางของประชาชนลดลงมากกว่า 70% จึงส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ
แท็กซี่กระทบหนักสุด สูญรายได้เกินครึ่ง
แม้ว่ารัฐบาลจะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และทยอยเปิดกิจการต่างๆ ให้กลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ แต่มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จะยังคงอยู่ต่อไปซักระยะหนึ่ง และทำให้ประชาชนต้องปรับตัวเข้าสู่ New Normal ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผู้ประกอบการรถแท็กซี่จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด คาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการจะหดตัวประมาณ 50%-55% ในปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าหลักของคนขับรถแท็กซี่ ประกอบกับ ผู้โดยสารที่นั่งรถแท็กซี่ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อมากกว่าผู้โดยสารรถประจำทาง จึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ขณะที่ รถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยกว่า โดยคาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการจะหดตัวประมาณ 30%-35% ในปีนี้ จึงทำให้ภาพรวม รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจะหดตัว 39%-44% ในปีนี้ เนื่องจากการบังคับใช้ พรบ ภาวะฉุกเฉิน และมาตรการ Social Distancing
ในระยะยาว เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ Social Distancing ต่าง ๆ เช่น เปิดร้านอาหารแบบนั่งทานเป็นกลุ่ม เปิดโรงภาพยนตร์ เปิดฟิสเนส และกลับมาส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกครั้ง ความต้องการเดินทางจะพลิกกลับมาเป็นขยายตัวขึ้นจากเดิม เนื่องจากคนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายการอยู่บ้าน โหยหาไลฟ์สไตล์ที่เคยมี ต้องการพบปะเพื่อนฝูง ญาติมิตร และทำกิจกรรมทางสังคมที่ต้องพบปะผู้คน จึงทำให้ความต้องการเดินทางเพื่อการสันทนาการพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงแรก
อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะเวลาที่ถูกล็อกดาวน์ได้ทำให้พฤติกรรมผู้คนบางส่วนเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ New Normal ในระยะยาว เช่น สั่งอาหารมาทานที่บ้านมากขึ้น ดูหนังออนไลน์มากขึ้น ซื้อของออนไลน์มากขึ้น หรือแม้กระทั้ง เรียนออนไลน์มากขึ้น และทำงานที่บ้านมากขึ้นในบางอาชีพ เช่น กราฟิกดีไซน์ นักพัฒนาเวป นักเขียนคอนเทนต์ การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เข้าสู่ New Normal เหล่านี้จะทำให้ความต้องการเดินทางของคนในเมืองลดลงในระยะยาว