การรถไฟแห่งประเทศไทย สรุปภาพรวมวันแรกของการเปิดเดินขบวนรถโดยสารทางไกล ขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถท้องถิ่น หลังคลายล็อกดาวน์เฟส 3 ภาพรวมมียอดผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 8,000 คน/วัน สายอีสานเดินทางมากสุด 7,446 คน
หลังมีมาตรการผ่อนคลายการเดินทางข้ามจังหวัดช่วงเวลาเคอร์ฟิว พบคนไทยเดินทางเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้เปิดให้บริการเดินขบวนรถโดยสารทางไกล ขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถท้องถิ่น พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการเปิดเดินขบวนรถโดยสารพิเศษออกไปอีก 30 วัน เป็นการเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 หลังจากรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดให้รถโดยสารสาธารณะสามารถเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในระยะที่ 3 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางโดยรถไฟ ทั้งการเดินทางภายในเขตเมือง ระหว่างเมือง และทางไกล ข้ามเขตพื้นที่จังหวัด
สำหรับการเดินทางของประชาชนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดเดินขบวนรถเพิ่มเติม ภาพรวมด้านการโดยสารขบวนรถให้บริการเพียงพอ มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น จำนวน 26,225 คน แบ่งออกเป็น ผู้โดยสารเดินทางเข้ากรุงเทพ จำนวน 13,733 คน และผู้โดยสารเดินทางออกจากกรุงเทพ จำนวน 12,492 คน
ส่วนเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นที่สุด คือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ 7,446 คน รองลงมาคือสายใต้ จำนวน 5,804 คน สายเหนือ 5,722 คน สายตะวันออก 4,441 คน และสายแม่กลอง 2,812 คน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่มีผู้โดยสารเดินทางเพียง 18,218 คน
ขณะที่ในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนเดินทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะเปิดเดินขบวนรถครบทั้งขาเข้าและขาออก และเป็นวันสุดท้ายของการทำงานก่อนถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยจะมีจำนวนผู้โดยสารเดินทางทั่วประเทศประมาณ 30,000 คน
ปัจจุบันมีขบวนรถที่ให้บริการทั้งหมด จำนวน 169 ขบวน
โดยปัจจุบันมีขบวนรถที่ให้บริการทั้งหมด จำนวน 169 ขบวน (ไป-กลับ) ประกอบด้วย ขบวนรถโดยสารทางไกล จำนวน 11 ขบวน (ไป-กลับ) และขบวนรถชานเมือง และขบวนรถธรรมดา และขบวนรถท้องถิ่น จำนวน 152 ขบวน (ไป-กลับ) และขบวนรถโดยสารพิเศษ จำนวน 6 ขบวน (ไป-กลับ) ที่ขยายเวลาให้บริการเพิ่มอีก 30 วัน (ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน – 17 กรกฎาคม 2563)
ยังคุมเข้มมาตรการป้องกันความเสี่ยงโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
นายนิรุฒ มณีพันธ์ กล่าวต่อว่า ในด้านมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด โดยให้พนักงานด้านปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ถุงมือยาง และ Face shield ตลอดเวลาที่ให้บริการ มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารอย่างเข้มข้น จัดให้มีแอลกอฮอล์เจลบริการอย่างเพียงพอและทั่วถึง ทั้งบริเวณสถานีและบนขบวนรถ การรักษาระยะห่าง Social Distancing ให้มีจุดยืน / นั่ง ให้ชัดเจน ทั้งที่สถานีและขบวนรถ
จำกัดการจำหน่ายตั๋วโดยสาร ที่ 50% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด พร้อมติดตั้งแอปฯ ไทยชนะ เพื่อควบคุมการเข้าออกของผู้โดยสารผ่านการเช็กอิน-เช็กเอาท์
สำหรับการจำหน่ายตั๋วโดยสารสำหรับรถนั่งชั้น 2 – 3 จำกัดจำนวนไว้ที่ 50% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด เมื่อจำหน่ายเต็มตามที่ระบุแล้ว จะไม่จำหน่ายตั๋วอีกรวมทั้งตั๋วไม่มีที่นั่ง (ตั๋วยืน) สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถนอนปรับอากาศชั้น 1 และชั้น 2 ได้มีการกำหนดจุดที่นั่งก่อนที่จะมีการปรับเก้าอี้เป็นเตียงนอน ทั้งเตียงบนและเตียงล่าง เพื่อให้มีการรักษาระยะห่าง และการงดจำหน่ายอาหารบนขบวนรถ หากผู้โดยสารที่เดินทางไกลเกินกว่า 3 ชั่วโมง ให้เตรียมอาหารไปรับประทานเอง
นอกจากนั้นยังมีการติดตั้ง แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ที่สถานีและบนขบวนรถ (เป็นรายตู้/โบกี้) เพื่อใช้ควบคุมการเข้าออกของผู้โดยสารที่มาใช้บริการผ่าน Check-in และ Check-out จากแอปพลิเคชันดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ขอความร่วมมือผู้โดยสารทำการกรอกรายละเอียดในแบบคำร้องประกอบการซื้อตั๋ว และสำหรับผู้โดยสารที่จะต้องเดินทางข้ามเขตจังหวัด จะต้องกรอกข้อมูลเอกสารรับรองความจำเป็นในการเดินทาง ตามแบบฟอร์ม ต.8/คค./รฟท. และได้รับการตรวจคัดกรอง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ฉะนั้น จึงขอให้ผู้โดยสารมาถึงสถานีล่วงหน้าก่อนเวลาเดินทาง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว
ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งกำหนดเวลาต่างๆ ได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ สถานีรถไฟ หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย