Wednesday, September 27, 2023
More

    เตรียมเปิดน่านฟ้าให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ คาดผู้โดยสารอาจลดลง 70% ในปี 63

    สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ประชุมร่วมกับสายการบินสัญชาติไทยและผู้ดำเนินการสนามบิน ประชุมเพื่อหารือทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อม หากจะกลับมาเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ

    เตรียมพร้อมเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ

    โดยนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า กพท. ได้สรุปแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ใช้บังคับกับสนามบิน อากาศยาน คนประจำอากาศยาน และได้จัดทำร่างประกาศ เรื่อง แนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงได้เชิญสายการบินและสนามบินมาหารือและหาข้อสรุปร่วมกัน


    สำหรับประเด็นที่หารือประกอบด้วย มาตรการตั้งแต่การคัดกรองโรคก่อนออกประเทศ ทั้งประเทศต้นทางอื่น ๆ และประเทศไทย / Check-in / Boarding / การปฏิบัติตัวทั้งของผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบิน / และมาตรการเมื่อถึงสนามบินปลายทางทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ

    สายการบินสามารถจำหน่ายตั๋วได้เต็มตามจำนวนที่นั่ง จำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่มเฉพาะเส้นทางบินเกิน 2 ชม.

    จากการประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ สายการบินจะสามารถจำหน่ายบัตรโดยสารได้เต็มตามจำนวนที่นั่งทั้งหมดได้ โดยไม่ต้องเว้นที่นั่งเนื่องจากระบบอากาศหมุนเวียนในเครื่องบินได้มีการรับรองแล้วว่ามีมาตรฐาน แต่ผู้โดยสารยังต้องรับผิดชอบสวมใส่หน้ากากปิดปากและจมูก (Face Covering) ส่วนลูกเรือจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

    ด้านการให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ระยะเวลาของเที่ยวบินต้องเกิน 2 ชั่วโมงจึงจะอนุญาตให้มีบริการอาหารและเครื่องดื่มได้ และต้องมีมาตรการลดการสัมผัสระหว่างลูกเรือกับผู้โดยสารมากที่สุด เช่น การบรรจุอาหารและเครื่องดื่มในภาชนะที่ปิดมิดชิด

    นอกจากนั้นต้องมีการจัดที่นั่งพิเศษ 3 แถวหลัง เพื่อแยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัยระหว่างเที่ยวบิน โดยจะมีการพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่ที่จะให้บริการ และระยะเวลาในการบิน

    ศบค. จะพิจารณาการเปิดน่านฟ้าอีกครั้ง เมื่อครบกำหนดห้ามทำการบินมายังประเทศไทย 30 มิ.ย.นี้

    อย่างไรก็ดี สำหรับการพิจารณาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ เมื่อครบกำหนดห้ามทำการบินมายังประเทศไทยเป็นการชั่วคราว 30 มิ.ย.นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) จะเป็นผู้พิจารณา พร้อมกำหนดมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าออกว่าจะให้เป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลโดยตรงกับปริมาณในการเดินทางว่ามีมากน้อยเพียงใด และสายการบินจึงจะประเมินได้ว่าการจำนวนการจำหน่ายตั๋วโดยสารนั้นคุ้มค่าคุ้มทุนต่อการเปิดบินหรือไม่ อีกทั้งต้องดูผลตอบรับจากผู้โดยสารด้วย

    เนื่องจาก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้า ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากสายการบิน 122 สาย พบว่าต้องมีผู้โดยสารในอัตราส่วนบรรทุก (Load Factor) เฉลี่ย 77% ของจำนวนที่นั่ง จึงจะคุ้มทุนต่อการเปิดบิน หาก กำหนดขายตั๋วแบบเว้นระยะห่าง จะมี Load Factor ประมาณ 70% สายการบินจะขาดทุน

    คาดผู้โดยสารจะลดลงกว่า 70% จากปี 62 และเริ่มมีการเดินทางระหว่างประเทศช่วง ก.ย. 63

    ส่วนปริมาณผู้โดยสารปี 2563 นั้น กพท. ประเมินว่า ผู้โดยสารจะลดลงจากปี 2562 ที่มีประมาณ 165 ล้านคน กว่า 70% และคาดว่าจะเริ่มมีการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงเดือน กันยายน และจำนวนผู้โดยสารจะมีไม่มากนัก

    ทั้งนี้ กพท. จะนำข้อเสนอแนะจากการหารือที่ได้จากสายการบินและสนามบินในวันนี้ ไปพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศ ฯ และนำไปหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านอื่น ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. ต่อไป โดยสามารถติดตามประกาศการเดินทางทางอากาศที่เกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่ http://www.caat.or.th/corona