Friday, December 8, 2023
More

    ขับเคลื่อนปฏิบัติการ Circular Economy ลดขยะพลาสติกในทะเลไทย 50% ในปี 2570

    รัฐร่วมมือเอกชนปฏิบัติการหมุนเวียนพลาสติกด้วยจุดดรอปพ้อยท์ ภายใต้โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics ขับเคลื่อนการนำพลาสติกสะอาดกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำวนกลับมาใช้งานได้อีกหลายรอบ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570

    เร่งปฏิบัติการหมุนเวียนพลาสติกด้วยจุดดรอปพ้อยท์

    สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) และ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics จัดงานแสดงพลังความร่วมมือ Circular in Action – Drop Point of Used Plastic หรือ ปฏิบัติการหมุนเวียนพลาสติกด้วยจุดดรอปพ้อยท์ เพื่อขับเคลื่อนการนำพลาสติกสะอาดกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำวนกลับมาใช้งานได้อีกหลายรอบ “แบบไม่รู้จบ” เพื่อไม่ให้พลาสติกเหล่านี้หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อมและไม่ไปที่หลุมฝังกลบ


    โดยจุดประสงค์เพื่อเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องขยะพลาสติกในทะเล และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยการนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อทำประโยชน์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยภายในงานครั้งนี้ยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาร่วมเปิดพิธีและกล่าวมอบนโยบาย BCG ขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน หลังโควิด-19

    ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธาน PPP Plastics กล่าวว่า “สำหรับโครงการ PPP Plastics เริ่มขึ้นในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เป็นหน่วยงานหลักสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Model ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม”

    “และในฐานะประธาน PPP Plastics ผมก็จะเดินหน้าสานต่อและขยายผลการดำเนินงานของ PPP Plastics เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570”  ดร.วิจารย์ กล่าวเพิ่มเติม

    ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า TBCSD “ในฐานะองค์กรร่วมก่อตั้งโครงการ PPP Plastics พร้อมร่วมเดินหน้าเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างบูรณาการแบบครบวงจรและมีประสิทธิภาพ โดย TBCSD จะเชิญชวนองค์กรที่เป็น value chain ของกระบวนการจัดการพลาสติก ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางมาเข้าร่วมโครงการฯ และผมเชื่อว่าหากเรามี Partner มากขึ้น จะทำให้การดำเนินงานโครงการฯ ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น รวมถึง TBCSD จะเดินหน้าขยายผลการดำเนินงานโครงการนี้ไปในวงกว้าง โดยอาศัยความร่วมมือขององค์กรสมาชิก TBCSD ที่เข้มแข็ง และความร่วมมือ  จากภาคีเครือข่ายและองค์กรพันธมิตรต่างๆ”

    ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนของหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่เป็น “การสร้างการมีส่วนร่วม” ของทุกภาคส่วน ทางสภาอุตสาหกรรมฯ จึงมีความยินดีและขอร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรกว่า 60 องค์กร ในการร่วมแรงร่วมใจ ทำให้เกิดโมเดลการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและแก้ปัญหาขยะตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกันต่อไปในอนาคต”

    ด้านนายอดิศร นุชดำรง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “PPP Plastics ถือเป็นความร่วมมือแรกของภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาททำงานร่วมกับภาครัฐ โดยได้เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะทำงาน ภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อร่วมกันดำเนินงานตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 และ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2565”

    นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นการนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างงานให้กับประชาชน และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้ร่วมมีบทบาทส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราเผชิญอยู่และยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปในแนวทางที่ยั่งยืนอีกด้วย”

    ปิดท้ายด้วย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวมอบนโยบาย BCG ขับเคลื่อนประเทศไทย และกล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ มาร่วมผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกในประเทศไทย และขอชื่นชมและขอบคุณ PPP Plastics ที่สามารถเชื่อมโยงหลากหลายหน่วยงานที่สำคัญให้มาทำงานร่วมกัน เพราะทุกคนทราบดีว่าการจะทำให้เกิด Circular Economy ขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งสามารถสร้างให้เกิดขึ้นเองได้”