Tuesday, December 6, 2022
More

    ตั้งเป้าลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเหลือ 25 คนต่อการเกิด 1,000 คน ภายในปี 2579

    รัฐตั้งเป้าแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและลดการคลอดในวัยรุ่นให้เหลือเพียง 25 คนต่อการเกิด 1,000 คน ภายในปี 2579

    ลดการคลอดในวัยรุ่นไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

    สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัวรายงาน “ประชากรและการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในประเทศไทย 25 ปี หลังจาก ICPD”


    นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “นับตั้งแต่การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา หรือ International Conference on Population and Development (ICPD) เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามกรอบ ICPD โดยแนวทางหลักสามประการคือ หนึ่ง ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน รวมถึงการบริการทางอนามัยการเจริญพันธุ์โดยปราศจากอุปสรรคด้านการเงินเพื่อเข้าถึงบริการ, สอง มีการดำเนินงานร่วมกันตามกลไกระดับชาติเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากอคติทางเพศ (Gender-based Violence) โดยการสร้างศักยภาพให้กับวัยรุ่นหญิงผ่านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ 2559 และลดการคลอดในวัยรุ่นให้เหลือเพียง 25 คนต่อการเกิด 1,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2579 และ สาม ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาตลอดช่วงชีวิต (life-course approach) เพื่อสร้างวิถีชีวิตที่เข้มแข็ง ทำให้ผู้สูงวัยและประชากรวัยแรงงานเป็นทรัพยากรและทุนมนุษย์ในการร่วมพัฒนาประเทศอย่างมีส่วนร่วม”

    ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมุมมองด้านสุขภาพว่า “ปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนความต้องการประชากรทดแทนมีไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งสร้างระบบรองรับหลายด้านเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศ แต่หลังสถานการณ์โควิด ต้องมีการพิจารณาจำนวนประชากรที่เหมาะสมของประเทศใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดต่อสถานการณ์ครอบครัวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการเกิดหรือการวางแผนครอบครัว ดังที่เราเคยประสบความสำเร็จเรื่องการคุมกำเนิดมาแล้ว เพื่อเป็นการวางแผนคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ใช่เรื่องการมีบุตรหรือการแต่งงานเพื่อมีบุตรเท่านั้น”

    ขณะที่ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองของอนาคตในระยะ 20 ปีข้างหน้า ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมาจากความยากจน ซึ่งการสร้างประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต หากเริ่มต้นจากความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ของพ่อแม่ และการสาธารณสุขที่ดี จะช่วยให้เด็กเกิดและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ การมีสุขภาพที่ดีย่อมเป็นต้นทุนในการเริ่มต้นชีวิตที่ดีของทุกคน

    ดังนั้น จึงควรพิจารณานำเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเกิด และการเลี้ยงดูเด็ก เข้ามาใช้ในการป้องกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์