“น้ำเสีย” กำลังกลายเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาให้เป็นแหล่งต้นทุนน้ำใหม่ โดยจากประสบการณ์ ในช่วงเกิดวิกฤตแล้งในภาคตะวันออกเมื่อปี พ.ศ. 2548 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี คือหนึ่งภาคเศรษฐกิจ ที่มองเห็นคุณค่า และศักยภาพของ “น้ำเสีย” นำมาบำบัดหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ทดแทนแหล่งน้ำจากธรรมชาติหรือน้ำประปา ตามหลัก 3Rs (Reduce Reuse and Recycle) และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy System จนเกิดเป็นโมเดลต้นแบบในการรีไซเคิลน้ำเสียของ EEC
3Rs โมเดลรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ใน EEC ที่แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ และประหยัดได้ถึง 40%
การที่พื้นที่ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แนวโน้มการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นมากถึง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี พ.ศ. 2580 จึงยังเป็นปัญหาสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นอย่างมาก
โดยแนวทางที่จะช่วยให้การจัดการทรัพยากรน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใช้ 3Rs (Reduce Reuse and Recycle) และกระบวนการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งตามรูปแบบที่ดำเนินการอยู่จะส่งผลโดยตรงทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำ การจัดการน้ำเสีย และลดการแย่งชิงน้ำกับชุมชนในปีวิกฤตภัยแล้ง รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งน้ำ เกิดจากกระบวนการจัดการน้ำเสียที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้รองรับกับระบบกรอง RO ( Reverse Osmosis Membrane) จึงทำให้เกิดประโยชน์ทั้งการประหยัดน้ำ และการจัดการน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูง
ซึ่งจากการวิจัยเบื้องต้น พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 พื้นที่ EEC จะมีนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการประหยัดน้ำโดยได้ดำเนินการโครงการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และระยอง ประมาณ 40% และที่มากกว่า 15% ได้แก่สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา, นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น
นอกจากนี้ผลการสำรวจ พบว่า ประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากในพื้นที่ EEC มีศักยภาพในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 15% อาทิ
– กลุ่มสิ่งทอมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-49.5%
– กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-37%
– กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะและยางประหยัดน้ำได้ 18-55%
– กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ประหยัดน้ำได้ 16-34%
– กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประหยัดน้ำได้ 15-18%
– กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประหยัดน้ำได้ 15 %
โดยมุมมอง “น้ำเสีย”จากนี้ จะเปลี่ยนไป เมื่อ “น้ำเสีย” จะกลายเป็นแหล่งน้ำจืดในอนาคต เทคโนโลยีการจัดการน้ำตัวช่วยในการยกระดับน้ำเสียให้เป็นน้ำใส การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ คือความหวังของอุตสาหกรรม เพราะโอกาสของ EEC อยู่ที่ความมั่นคงด้านน้ำ
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พื้นที่สำคัญแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
นายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่ EEC ว่าจากแนวโน้มการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นและจะมีอัตราการขยายตัวที่มากกว่ายุโรป และอเมริกา ด้วยปัจจัยทางด้านการผลิตที่ดีกว่า ทั้งค่าแรงงาน วัตถุดิบ และต้นทุนอื่น ๆ ที่ต่ำกว่า สำหรับประเทศไทย
และในภาพรวมแล้วเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจต่อการลงทุนมากประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี มีค่าแรงที่ไม่สูงมากนัก ทั้งพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยมีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน เส้นทางคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางบก และทางทะเล ล้วนเป็นปัจจัยบวกในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ