Gen Y ส่วนใหญ่ไม่ค่อยไว้วางใจรัฐในการดำเนินนโยบายสาธารณะ ขณะที่ Baby boom เห็นด้วยถ้าหากจะต้องเสียภาษีเพิ่มเพื่อให้รัฐจัดสวัสดิการที่สร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิต ส่วน Gen X กังวลว่าเมื่อเกษียณจะมีเงินไม่พอยังชีพ อยากให้รัฐมีนโยบายช่วยเหลือให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ
Gen Y ชี้ไม่ไว้วางใจรัฐในการดำเนินนโยบายสาธารณะ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เผยผลวิจัย ความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย ในมุมมองแต่ละ Gen นำโดย รศ.ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า คนสามรุ่น ทั้ง Baby boomer (เกิดปี 2489-2507), Gen X (เกิดปี 2508-2522) และ Gen Y (เกิดปี 2523-2539) มีความชอบที่ห่างกันเรื่อยๆ ในเรื่องความเชื่อเรื่องบาปบุญ และการใช้ชีวิตครอบครัว ซึ่งน่าจะมีผลไปถึงความชอบนโยบายสาธารณะที่มากระทบชีวิตความเป็นอยู่ของเขาด้วย
สำหรับประเด็นในเรื่องความไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า รุ่น Baby boomer เห็นด้วยถ้าหากจะต้องเสียภาษีเพิ่ม เพื่อให้รัฐจัดสวัสดิการที่สร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิต ได้แก่เรื่องประกันสุขภาพ และบำนาญที่เพียงพอกับการยังชีพ ซึ่งคงไม่แน่แปลกใจเพราะคนรุ่นนี้มีสุขภาพและรายได้แย่ลงตามวัย
ส่วนคนรุ่น Gen Y ไม่ค่อยไว้วางใจรัฐในการดำเนินนโยบายสาธารณะสักเท่าไร โดย Gen Y 40% ไม่เห็นด้วยที่ต้องเสียภาษีเพื่อเอาเงินไปใช้จ่ายเพื่อป้องกันประเทศ อีก 31% รู้สึกเฉยๆ อยากทำก็ทำไป และ 50% ไม่คิดว่าว่ารัฐจะเข้ามาช่วยเหลือเขาให้ยังชีพอยู่ได้ ถ้าบังเอิญโชคร้ายจนถึงขั้นลำบากยากจน
ขณะที่รุ่น Gen X มากถึง 60% คิดว่าถ้าตกงานไม่มีงานทำ เขาจะมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับการจับจ่ายใช้สอยจนกว่าจะได้งานใหม่ 47% คิดว่าเมื่อเกษียณจะมีเงินไม่พอยังชีพ รุ่นนี้จึงอยากให้รัฐมีนโยบายช่วยเหลือให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ
Gen Y รู้สึกไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี
นโยบายที่ทุกรุ่นไว้วางใจรัฐและเห็นด้วยว่ารัฐควรทำคือ การสร้างและจัดบริการห้องสมุดดี ๆ มีคุณภาพให้เด็ก ๆ ได้ใช้ แต่น่าเสียดายที่รัฐไม่ค่อยอยากทำเรื่องนี้สักเท่าไรนัก
แม้ว่าเรามักได้ยินผู้คนบ่นเรื่องคุณภาพการศึกษาของไทย แต่การสำรวจพบว่า เกินกว่า 75% ของทุกรุ่นเห็นว่าคุณภาพการศึกษารุ่นตนดีกว่ารุ่นพ่อแม่ และ 80% เห็นว่าคุณภาพการศึกษาของรุ่นลูกจะดีกว่ารุ่นปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี นี่เป็นการเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาในประเทศเราเอง เราจึงพบว่าคุณภาพดีขึ้น แต่ถ้าเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เราจะเห็นผู้คนไม่ค่อยพอใจคุณภาพการศึกษาไทย โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรที่ลงไปเพื่อการศึกษามีจำนวนสูงขึ้นมาก
กลุ่มคนไทยที่ถูกสำรวจไม่สนใจเรื่องการเมืองประมาณ 25% แต่ในสถานการณ์การเมืองแบบปัจจุบัน Gen Y รู้สึกไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี (34%) อีกทั้งกลุ่มนี้ไม่ชอบการทำงานของราชการสูงกว่าคนรุ่นอื่นในเกือบทุกเรื่อง
จะเห็นว่า คนรุ่น Gen Y ไม่ค่อยรู้สึกว่านโยบายที่รัฐทำให้คุ้มกับภาษีที่จ่าย ซึ่งความหวังในชีวิตของคนรุ่น Gen Y ไม่สดใสนักพวกเขามั่นใจน้อยลงว่าจะมีอาชีพที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่พวกเขาไม่พอใจมากขึ้นกับปัญหาสิ่งแวดล้อมปัญหาเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองและปัญหาความปลอดภัยในการออกนอกบ้านยามกลางคืน