Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    เผยไทยอยู่อันดับ 4 ด้านนโยบายและการวางแผนรับมือกับโรคมะเร็ง ในเอเชียแปซิฟิก

    ไทยติดอันดับ 6 ความพร้อมในการรับมือกับโรคมะเร็ง และอยู่อันดับ 4 ด้านการวางแผนและนโยบาย จากรายงานดัชนีความพร้อมในการรับมือกับโรคมะเร็ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก : การขับเคลื่อนสู่มาตรการควบคุมโรคมะเร็งฉบับสากล (Cancer preparedness in Asia Pacific: Progress towards universal cancer control) ซึ่งจัดทำโดย The Economist Intelligence Unit ด้วยการสนับสนุนโดยโรช (Roche)

    ไทยอยู่อันดับ 6 ประเทศพร้อมรับมือกับโรคมะเร็งในเอเชีย แปซิฟิก

    โดยผลการวิเคราะห์ความพร้อมในการรับมือกับโรคมะเร็งของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่าง ไทย, ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, และเวียดนาม ซึ่งใช้เกณฑ์การสำรวจด้วยการเก็บตัวอย่าง และวิเคราะห์ผลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง และระบบสาธารณสุขระดับภูมิภาคซึ่งเจาะประเด็นใน 3 ด้านสำคัญดังนี้


    1.ด้านนโยบายและการวางแผน
    2.ด้านการให้บริการและการรักษา
    3.ด้านระบบสุขภาพและการสนับสนุนจากรัฐบาล

    ซึ่งอันดับความพร้อมในการรับมือกับโรคมะเร็งของ 10 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากค่าเฉลี่ยรวมทุกด้าน มีดังนี้

    1.ออสเตรเลีย (90.5)
    2.เกาหลีใต้ (81.5)
    3.มาเลเซีย (78.7)
    4.ญี่ปุ่น (76.2)
    5.จีน (69.7)
    6.ไทย (63.3)
    7.อินโดนีเซีย (57.4)
    8.อินเดีย (50.7)
    9.เวียดนาม (44.5)
    10.ฟิลิปปินส์ (42.6)

    ผลสำรวจยังระบุลำดับคะแนนที่น่าสนใจจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (upper-middle income) อย่างประเทศไทย และมาเลเซีย ที่ได้คะแนนด้านมาตรการในวางแผนรับมือกับโรคมะเร็งได้ดีมากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของดัชนี

    ไทยอยู่อันดับ 4 ด้านการวางและนโยบายการรับมือโรคมะเร็ง

    ทั้งนี้หากวัดแบบลงลึกเฉพาะใน 3 ด้านที่ทำการสำรวจจะพบว่า มาตรการที่ประเทศไทยทำได้ดีที่สุดในการรับมือเพื่อรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง จะเป็นด้านนโยบายและการวางแผน ซึ่งอยู่ในอันดับ 4 จากทั้งหมด 10 ประเทศที่ทำการจัดอันดับดังนี้

    1.ออสเตรเลีย (95.8)
    2.มาเลเซีย (92.3)
    3.เกาหลีใต้ (86.4)
    4.ไทย (84.2)
    5.ญี่ปุ่น (83.1)
    6.จีน (79.8)
    7.อินโดนีเซีย (69.4)
    8.อินเดีย (67.4)
    9.เวียดนาม (61.4)
    10.ฟิลิปปินส์ (54.9)

    โดย ดร. ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
    “ประเทศไทยได้คะแนนสูงอยู่ในอันดับสี่ ของการเป็นประเทศที่มีนโยบายและแผนการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคมะเร็งดีที่สุด เมื่อมองลึกลงไปถึงที่มาของคะแนน ไทยยังได้รับคะแนนสูงที่สุดจากการเป็นประเทศที่สามารถดำเนินการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งร่วมกับประเทศออสเตรเลีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น”

    และด้านการให้บริการและการรักษาซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 10 ประเทศที่ทำการจัดอันดับนั้น ดร. ศุลีพร ยังให้ทรรศนะไว้ว่า

    “ประเทศไทยมียารักษาโรคมะเร็งที่ส่วนมากถูกบรรจุเข้าไปในระบบ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงยา และเบิกค่ายาตามสิทธิที่พึงมีได้ผ่านระบบสาธารณสุข”

    “อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาการรักษาให้มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีคะแนนด้านนี้อยู่ในลำดับที่ 10 ร่วมกับ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยเน้นด้านการทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงการติดตามผลระยะยาว การพักฟื้น และการทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิต และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับประสิทธิภาพให้แก่เครื่องมือทางรังสีวิทยา และเพิ่มจำนวนรังสีแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา และบุคลากรสุขภาพด้านอื่น ๆ”

    และไทยยังอยู่อันดับ 6 ด้านระบบสุขภาพ และการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับคำชม และเป็นแบบอย่างให้นานาประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในแง่ของการลดค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก ทั้งยังเพิ่มขั้นตอนการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และการบำบัดทดแทนไต ทั้งยังลดอุปสรรคในการทำงานเนื่องจากอาการเจ็บป่วย

    ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง แต่กลับมีมาตรการการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง แม้มีทรัพยากรจำกัด และมีคุณภาพเทียบเท่ากับประเทศในกลุ่มที่มีรายได้สูง

    คาดภายในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมี ผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 35%

    ทั้งนี้จากรายงานของ Cancer Today ยังมีการเปิดเผยว่าปัจจุบัน โรคมะเร็ง ยังคงเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตของผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ภูมิภาคนี้จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 35% และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้น 40%

    ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายการรับมือ และสถาบันวิจัยโรคมะเร็งเกิดขึ้นมากมาย แต่อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น และการตรวจพบโรคมะเร็งเมื่อโรคมีการลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ยังเป็นปัญหาสำคัญของเกือบทุกประเทศในภูมิภาค โดยสามอันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี 2561 คือ มะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม