Wednesday, May 24, 2023
More

    สุวรรณภูมิ เตรียมทดสอบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ก่อนนำมาวิ่งให้บริการในสนามบิน

    AOT รับรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ขบวนแรกที่เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เตรียมนำเข้าสู่ขบวนการทดสอบระบบ ก่อนวิ่งให้บริการเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสาร (Main Terminal Building) และ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ในสนามบินสุวรรณภูมิ

    รถไฟฟ้าไร้คนขับขบวนแรก เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

    นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) พร้อมด้วยนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย AOT ผู้บริหารสำนักงานบริหารโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (Airline Operators Committee: AOC) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) และคณะผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact: IP) ร่วมกันรับรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับขบวนแรก ที่เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) วันที่ 15 กรกฎาคม 2563


    รถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

    สำหรับรถไฟฟ้า APM เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา ทสภ. (ปีงบประมาณ 2560 – 2564) (ระยะ 2) ใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสาร (Main Terminal Building) และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) โดยรถไฟฟ้าชุดนี้เป็นล็อตแรกที่บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ผู้ผลิต จัดส่งมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มี 1 ขบวน จำนวน 2 ตู้ ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมาจนครบทั้ง 6 ขบวน 12 ตู้ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563

    วิ่งด้วยความเร็ว 80 กม./ชั่วโมง รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงปกติได้ 132 คน/ขบวน

    รถไฟฟ้า APM มีคุณสมบัติ เป็นระบบรถไฟฟ้าล้อยาง แบบไร้คนขับ วิ่งบนทางคอนกรีต 1 ขบวนมี 2 ตู้ วิ่งด้วยความเร็ว 80 กม./ชั่วโมง จะวิ่งให้บริการรับส่งผู้โดยสารระหว่างสถานีอาคารผู้โดยสารหลักกับสถานีอาคาร SAT-1 ระยะทาง 1 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงปกติได้ 132 คน/ขบวน หรือ 3,590 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

    ส่วนชั่วโมงเร่งด่วน รองรับได้ 210 คน/ขบวน หรือ 5,960 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง มีรถให้บริการทั้งหมด 6 ขบวน ในชั่วโมงปกติจะวิ่ง 2-3 ขบวน ส่วนชั่วโมงเร่งด่วน 4 ขบวน วิ่งให้บริการด้วยความถี่ทุกๆ 3 นาที/ขบวน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำรถไฟฟ้าไร้คนขับมาให้บริการรับส่งผู้โดยสารฟรีภายในสนามบินในประเทศไทย

    อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 คาดว่าจะทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่างๆ แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565

    ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวถึงโครงการพัฒนา ทสภ. ระยะที่ 2 ว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) 88%

    ซึ่งปัจจุบัน AOT ดำเนินงานโครงสร้างแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินงานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน งานภูมิทัศน์ และติดตั้งงานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ไฟฟ้า เครื่องกล สุขาภิบาล และระบบสารสนเทศภายในอาคาร แต่ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ทำให้ภาพรวมการทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ (Operation Readiness and Airport Transfer : ORAT) สำหรับอาคาร SAT-1 ต้องเลื่อนออกไป

    โดยคาดว่าจะทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่างๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565 เช่น ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ระบบบริหารลานจอดอากาศยาน ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง เป็นต้น