Tuesday, December 6, 2022
More

    กทม. อนุมัติงบรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 63 อีก 2,570 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตคนกรุง

    สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ได้มีการประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2563 โดยมี นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภา กทม. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้มีมติชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ..2563 (ฉบับที่..) .…. ในวาระ 2 และ 3

    กทม. อนุมัติวงเงิน 2,570,061,601 บาท เพื่อพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนกรุง    

    นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ..2563 (ฉบับที่..) .…. กล่าวว่าคณะกรรมการวิสามัญฯได้พิจารณาแผนงานและโครงการต่างๆโดยยึดหลักความคุ้มค่าภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


    โดยงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ กทม. จะนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการโยธา และระบบจราจร ด้านการศึกษา ด้านการระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ด้านสาธารณสุข และด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเป็นแผนงานและโครงการภายใต้การดูแลของ 10 สำนัก 14 สำนักงานเขต วงเงินรวม 2,570,061,601 บาท

    ซึ่งหลังจาก สภา กทม. มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวในวาระที่สองและวาระที่สามแล้วจะนำรายละเอียดรวมถึงข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯเสนอต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป

    สำหรับข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯได้แก่หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณตามร่างข้อบัญญัติฉบับนี้ต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกินปีงบประมาณถัดไปหากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ตกเป็นเงินสะสมในด้านการโยธาเมื่อก่อสร้างถนนหรือปรับปรุงถนนแล้วเสร็จควรมีมาตรการในการกวดขันไม่ให้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินสัญจรผ่านเนื่องจากหากเสียหายกรุงเทพมหานครต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก

    ด้านการแพทย์ การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ไม่ควรคำนึงถึงราคาต่ำสุดเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงคุณภาพและประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน ด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบบริหารจัดการค่าธรรมเนียม การให้บริการควรเน้นการใช้เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน หรือช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ มาใช้แทนการใช้กำลังคนในการแจ้งหนี้หรือจัดเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อลดปัญหาการรั่วไหล และอัตรากำลังไม่เพียงพอ