งานวิจัยของเคพีเอ็มจีด้านดัชนีชี้วัดความพร้อมใช้ยานยนต์ไร้คนขับ (KPMG Autonomous Vehicles Readiness Index – AVRI) หรืองานวิจัย 2020 KPMG AVRI ครั้งที่ 3 จากการประเมินความก้าวหน้าของ 30 ประเทศ และเขตปกครองในการปรับใช้และพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ
โควิด-19 ดันพฤติกรรมการคมนาคมของผู้บริโภคเปลี่ยน
โดยจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าแม้กระแสการประชาสัมพันธ์ยานยนต์ไร้คนขับจะลดน้อยลงแต่ความก้าวหน้ากลับมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องได้มุ่งเน้นความสำคัญไปในด้านกฎหมาย / กฎระเบียบในการรองรับและการยอมรับทางสังคม
ทั้งนี้จากในปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความต้องการด้านคมนาคมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค และการมุ่งเน้นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นปัจจัยเร่งให้ทั่วโลกเกิดการพัฒนา และใช้ยานยนต์ไร้คนขับอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
สิงคโปร์อันดับ 1 ประเทศพร้อมใช้ยานยนต์ไร้คนขับ
และจากการประเมินความก้าวหน้าของ 30 ประเทศ และเขตปกครองในการปรับใช้และพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ พบว่าส่วนใหญ่มีความพร้อมเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยดัชนี AVRI ได้มีการประเมินประเทศ และเขตการปกครองด้วย 28 หัวข้อชี้วัด เพื่อดูความพร้อม และพัฒนาการในการใช้และสร้างนวัตกรรมยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งหัวข้อชี้วัดเหล่านี้ถูกจัดอยู่ภายใต้ 4 ด้านหลักคือ
1.นโยบายและกฎหมาย
2.เทคโนโลยีและนวัตกรรม
3.โครงสร้างพื้นฐาน
4.การยอมรับของผู้บริโภค
พบว่าประเทศที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดความพร้อมด้านยานยนต์ไร้คนขับมากสุดจะเป็น สิงคโปร์ เฉือนชนะเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแชมป์สองสมัยในสองปีที่ผ่านมา
จากดัชนี AVRI นั้น แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้มีมาตรการหลายด้านในการขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไร้คนขับ
โดยในปัจจุบันสิงคโปร์ได้มีการออกมาตรฐานระดับประเทศสำหรับการใช้รถยนต์ไร้คนขับ และยังอนุญาตให้มีการทดสอบการใช้ยานยนต์ไร้คนขับได้บนท้องถนนถึง 1 ใน 10 ของถนนสาธารณะทั้งหมดของประเทศ ทั้งสิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ต่างเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles – EVs) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีนำร่องของยานยนต์ไร้คนขับ
ซึ่งสิงคโปร์วางแผนที่จะเพิ่มปริมาณสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจาก 1,600 สถานี เป็น 28,000 สถานีภายในปี 2573 ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดต่อจำนวนประชากร นอกจากนี้นอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในด้านการใช้ EVs ได้มีการทดลองใช้ยานยนต์ไร้คนขับอย่างกว้างขวาง โดยมีการใช้รถบัสไร้คนขับในเส้นทางรถบัส 3 สายในกรุงออสโล
ส่วนสหรัฐอเมริกามีจุดเด่นคือเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทด้านยานยนต์ไร้คนขับถึง 420 บริษัทด้วยกัน ซึ่งนับเป็น 44% ของบริษัทด้านยานยนต์ไร้คนขับ
โดยครอบคลุมทั้งบริษัทเทคโนโลยี เช่น Waymo ของ Google และบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไร้คนขับ เช่น General Motors และ Ford เป็นต้น
ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศ และเขตปกครองส่วนใหญ่มีการพัฒนาความพร้อมในการใช้ยานยนต์ไร้คนขับ โดยที่ 17 ใน 25 ประเทศ และเขตปกครองที่ได้ถูกวิจัยในครั้งที่แล้วได้คะแนนค่าชี้วัดเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาด้านการทดลองใช้และสถานที่ทดลองยานยนต์ไร้คนขับ โดยพบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด 30
ประเทศ และเขตการปกครองในงานวิจัยครั้งนี้ ได้มีการกำหนดสถานที่ที่ได้รับอนุญาตในการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับโดยเฉพาะ
ภูมิภาคเอเชีฟแปซิฟิกมีการพัฒนาความพร้อมด้านยานยนต์ไร้คนขับสูงขึ้น
โดยมีถึง 8 ประเทศ และเขตปกครองในภูมิภาคที่ได้รับการจัดอันดับในดัชนีการชี้วัดครั้งนี้ ซึ่งทาง ชาราด โซมานี่ ประธานฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน เคพีเอ็มจี เอเชียแปซิฟิก เผยว่า เราได้เห็นหลายท้องที่เปิดรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับและได้รับการยอมรับมากขึ้นจากผู้กำหนดนโยบาย สังคม และนักวิจัย รวมไปถึงภาคธุรกิจ
อย่างจีน และอินเดียได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การใช้ยานยนต์ไร้คนขับและ EVs นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับรัฐบาลที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนเมืองให้เป็น Smart City โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมากขึ้น
อย่างเกาหลีใต้ก็มีการพัฒนาความพร้อมด้านยานยนต์ไร้คนขับมากที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยไต่อันดับขึ้นมา 6 ขั้นด้วยกัน ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 7 โดยเกาหลีใต้ได้มีการประกาศยุทธศาสตร์ระดับประเทศด้านยานยนต์ไร้คนขับในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนถึง 3 ใน 4 ในขณะเดียวกันไต้หวันเพิ่งได้รับการจัดอันดับเป็นครั้งแรก และอยู่ในอันดับที่ 13 ของดัชนีชี้วัดในครั้งนี้
ไทยมีแนวโน้มที่ดีในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับ
ด้านของประเทศไทยเรานั้นธิดารัตน์ฉิมหลวงประธานฝ่ายดูแลลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเคพีเอ็มจีประเทศไทยเผยว่าแม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับในเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจนแต่พบว่าได้มีโครงการริเริ่มจากภาครัฐเอกชนและมหาวิทยาลัยในหลายโครงการด้วยกัน
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน กสทช. ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช และภาคเอกชน ดำเนินโครงการนำร่องรถอัจฉริยะไร้คนขับเพื่อยกระดับการแพทย์ของประเทศไทยสู่ยุค 5G เพื่อขนส่งยาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยไร้การติดต่อระหว่างผู้ส่งและผู้รับซึ่งถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับของไทย
รวมไปถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ และสาธารณสุขในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความพร้อมต่อการใช้ยานยนต์ไร้คนขับของประเทศไทย เราควรพัฒนา และดำเนินการใน 4 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่ นโยบายและกฎหมาย เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างการยอมรับจากผู้บริโภค