ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยรายงานเกี่ยวกับความอันตรายของควันบุหรี่มือสองทั้งในระดับโลก และภาพรวมภายในประเทศไทย
องค์การอนามัยโลกเผยคนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันบุหรี่มืองสองกว่า 1.2 ล้านคน
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งมีสตรีจำนวนมากที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่มีโอกาสได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง โดยพบว่าควันบุหรี่มือสองมีอันตรายเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
ทั้งนี้ในวารสารก้าวทันวิจัยกับ ศจย. พ.ศ.2562 ได้ระบุข้อมูลการศึกษาวิจัยการได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองของผู้หญิงจีน จำนวนกว่า 72,000 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่แต่งงานกับสามีที่สูบบุหรี่และ/หรือได้รับควันบุหรี่มือสองจากที่ทำงาน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองเลย พบว่า
กลุ่มที่ได้รับควันบุหรี่มือสองนั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งอย่างมี
นัยสำคัญ โดยมีความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 และเมื่อวิเคราะห์แยกย่อยลงไปพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเหล่านี้เสียชีวิต ได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง
สำนักงานสถิติแห่งชาติเผย มีครัวเรือนไทยได้รับควันบุหรี่มือสองมากกว่า 10 ล้านคน
โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย ปี พ.ศ.2560 พบว่าส่วนใหญ่ผู้สูบบุหรี่เป็นเพศชาย
โดยมีผู้ชายสูบบุหรี่ขณะอยู่ในบริเวณบ้านมากถึงร้อยละ 42 ซึ่งศจย. ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ 4,962,045ครัวเรือน ทำให้มีคนที่ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านโดยเฉลี่ยสูงถึง 10,333,653 คน
หัวใจขาดเลือดภัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของควันบุหรี่มือสองต่อสตรี
จากข้อมูลของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยได้ระบุว่า ภัยของควันบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพสตรี คือ
1.เสี่ยงหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน และเส้นเลือดสมองแตก
2.เสี่ยงโรคปอด ทั้งหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมโป่งพอง
3.เสี่ยงโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกซึ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้สูง
4.ความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง เสี่ยงสะโพกหัก
5.ทำให้ปวดประจำเดือนเป็นอย่างมาก มีลูกยาก และมีอาการวัยทองที่รุนแรง
6.ถ้าตั้งครรภ์ เสี่ยงทำให้คลอดก่อนกำหนด เพิ่มความเสี่ยงการตายของทารกหลังคลอด