รายงานการวิเคราะห์ชีพจรรถยนต์ไทยหลังโควิด-19 จาก KKP Research พบว่ากำลังซื้อที่ลดลง และพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนไป ทำให้ตลาดรถยนต์มือสองคึกคักสวนทางกับรถยนต์ใหม่
ตลาดรถยนต์โลกหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และอาจถึงจุดอิ่มตัว
เริ่มจากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในระดับโลกพบว่าเริ่มมีสัญญาณหดตัวนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาต่อเนื่องถึงปี 2019 โดยเฉพาะในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีไปยังรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV (Electric vehicles) ในตลาดหลักอย่างจีน และยุโรป ในขณะที่ปี 2020 นี้ ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มจะหดตัวกว่า 20% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้กำลังซื้อของประชากรลดลง และนับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน สวนทางกับตลอดศตวรรษที่ผ่านมาที่ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มเติบโตมาโดยตลอด และในอนาคตอาจไม่กลับมาเติบโตได้ดีดังเดิมแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงไป จากแนวโน้มใหญ่ทั้งในด้านเทคโนโลยี และพฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนไป
อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย พึ่งการส่งออกกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตทั้งหมด
ขณะที่ตลาดรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบจากทั้งรอบวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ใหม่จะหดตัว 35% ในปีนี้ และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่ปัจจุบันมีการผลิตเป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีการจ้างงานกว่า 7.5 แสนคน และพึ่งพาการส่งออกถึงกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการผลิตทั้งหมด
โดยพบว่าวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้ใช้รถในไทยอยู่ที่ประมาณ 74 เดือนหรือประมาณ 6 ปี และมีแนวโน้มสั้นลงเรื่อย ๆ โดยรอบใหญ่ของการซื้อรถยนต์เกิดขึ้นระหว่างปี 2012-2013 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซี และรถกระบะเพื่อใช้สิทธิคืนภาษีสรรพสามิตตามโครงการรถคันแรกของภาครัฐในขณะนั้น ส่งผลให้รอบการเปลี่ยนรถที่เคยใช้สิทธิจากโครงการฯ เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2018 และตลาดรถยนต์ใหม่หรือรถป้ายแดงขยายตัวได้ถึง 20% อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ใหม่เริ่มแผ่วลงหลังจากนั้น
โควิด-19 ดันยอดขายรถยนต์หดตัวแล้ว 37%
ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อของประชากรลดลงจากผลกระทบต่อรายได้ และความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง เป็นผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถยนต์ใหม่หดตัวแล้วถึง 37% และตลอดปี 2020 คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลงเหลือเพียง 650,900 คัน คิดเป็นการหดตัวถึง 35% จากยอดขายในปีที่แล้ว
โควิด-19 กระตุ้นตลาดรถมือสองให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
แม้ว่ายอดขายรถยนต์ป้ายแดงจะหดตัวแล้วถึง 37% ตลอดครึ่งปีแรก แต่ยอดขายรถยนต์มือสองที่วัดจากยอดโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ลดลงเพียง 15% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะตลาดรถยนต์มือสองที่ยังคงแข็งแกร่ง และยืดหยุ่นกว่าตลาดรถยนต์ใหม่
ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ออกไป รวมทั้งอาจมีบางส่วนตัดสินใจหันไปซื้อรถยนต์มือสองเพื่อทดแทนการซื้อรถยนต์ป้ายแดงมากขึ้น อีกทั้งแนวโน้มราคารถยนต์มือสองที่ปรับตัวลดลงจนมีความน่าสนใจ และมีสัดส่วนรถปีใหม่ ๆ (หลังปี 2015) ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากการเทขายของผู้ใช้รถที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องหรือจากการขายทอดตลาด
ซึ่งจากข้อมูลบนเว็บไซต์ One2car ที่เป็นตลาดรถออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าจำนวนรถที่ลงประกาศขายก่อนครบรอบการเปลี่ยนรถปกติ (Replacement cycle) หรือรถมือสองที่จดทะเบียนหลังปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 6.1% จากต้นปี สวนทางกับรถปีเก่าที่มีจำนวนลดลงกว่าหนึ่งในสี่ และขยายสัดส่วนเพิ่มจาก 26% ในเดือนมกราคมเป็น 32% ในเดือนมิถุนายน
Google Trends เผยการค้นหาข้อมูลรถยนต์มือสองเพิ่มสูงสุดในรอบ 2 ปี
ข้อมูลจาก Google Trends ยังชี้ให้เห็นว่าตลาดรถยนต์มือสองในช่วงคลายล็อกดาวน์กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น โดยการค้นหาข้อมูลรถมือสองยี่ห้อหลักในอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ชี้ให้เห็นถึงความต้องการมีรถยนต์เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในแง่กำลังซื้อที่ทำให้ไม่สามารถซื้อรถยนต์ใหม่ได้
ทั้งนี้คาดว่าความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความกังวลด้านสุขภาพซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่เคยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากสภาพการจราจรในต้นเดือนกรกฎาคมที่กลับมาติดขัดเท่ากับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศโดยรถยนต์จะมีบทบาทแทนที่การเดินทางโดยเครื่องบินหรือการท่องเที่ยวต่างประเทศไปอีกระยะหนึ่ง