กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยรายงานการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในประเทศไทยช่วง 6 เดือนแรกของ ปี 2563
มูลค่าการส่งออกข้าวแปรรูปไทยครึ่งแรก ปี 63 โต 9.5%
พบความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในประเทศไทยที่มีเอฟทีเอช่วยดัน มีมูลค่าการส่งออก 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) โต 9.5% อาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกหลัก ขณะที่ตลาด ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน มาแรงเช่นกัน
โดยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่าผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่นแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมถึงขนมขบเคี้ยว นับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่น่าจับตามอง เพราะมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพประกอบกับการมีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปสินค้า ความต้องการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และความต้องการอาหารในชีวิตประจำวัน กอปรกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมานิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชมากขึ้น
อาเซียนตลาดสินค้าส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับ 1 ของไทย
ซึ่งอาเซียนนับเป็นตลาดสินค้าส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับ 1 ของไทย ที่มูลค่า 57 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10% โดยมีมาเลเซีย เป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน มูลค่า 21 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 32% ตามมาด้วย
– สหรัฐอเมริกา มูลค่า 17 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5%
– จีน มูลค่า 17 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17%
– ญี่ปุ่น มูลค่า 16 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 36%
– ออสเตรเลีย มูลค่า 11 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 33%
ทำให้ปัจจุบันไทยครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับ 1 ของโลก ส่วนมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวปี 63 จะแบ่งเป็น
– ข้าวเหนียว มูลค่า 58 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 22%
– เส้นก๋วยเตี๋ยว มูลค่า 36 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11%
– ขนมขบเคี้ยว มูลค่า 61 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.5%
ความตกลงการค้าเสรีแต้มต่อด้านราคาของผลิตภัณฑ์จากข้าวไทย
ทั้งนี้นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรมยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้ช่วยสร้างแต้มต่อด้านราคา ทำให้สินค้าผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้วในประเทศคู่ FTA 14 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ส่วนประเทศคู่ FTA อีก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ได้ลด/เลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยแล้วบางส่วนและคงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการเช่น
– จีน เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าวเจ้า 5-40%
– ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าวเจ้า 25%
– อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าว และเส้นหมี่จากข้าว 30% เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เพื่อการส่งออกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต