Monday, December 12, 2022
More

    เผยความต้องการของผู้สมัครงาน ครึ่งแรกปี 63 สายงาน ธุรการ/จัดซื้อ สมัครมากถึง 12.7%

    ข้อมูลจากจ็อบไทย (Jobthai) เผยว่า หลายองค์กรมีความต้องการแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกถึง 303,776 อัตรา (เป็นการนับจำนวนอัตราแบบไม่ซ้ำกัน) ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ มีการเปิดรับสูงสุดถึง 124,629 อัตรา แต่ในช่วงเดือนมีนาคมเมษายน การจ้างงานลดลงถึง 16.5% ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการติดเชื้อกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้องค์กร ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ ในส่วนของผู้ที่หางาน สมัครงาน มีการใช้งานมากกว่า 11 ล้านคนเติบโตขึ้นถึง 7.5% มีการสมัครงานถึง 8,876,727 ครั้ง เติบโตขึ้นถึง 31.0%

    สายงานที่องค์กรเปิดรับสมัครและสายงานที่มีผู้สมัครมากที่สุด

    สายงานที่องค์กรเปิดรับสมัครมากที่สุด


    1. งานขาย คิดเป็น 19.9%

    2. ช่างเทคนิค คิดเป็น  10.3%

    3. ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.9%

    4. วิศวกร คิดเป็น 5.8%

    5. ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 5.7%

    สายงานที่ผู้สมัครสมัครมากที่สุด

    1. ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 12.7%

    2. งานขาย คิดเป็น 9.5%

    3. ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 9.1%

    4. งานบุคคล/ฝึกอบรม คิดเป็น 6.2%

    5. ขนส่งคลังสินค้า คิดเป็น 6.1%

    ธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากและน้อยที่สุด

    ประเภทธุรกิจที่ต้องการแรงงานมากที่สุด

    1.ร้านอาหารเครื่องดื่ม 58,724 อัตรา แม้การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารจะปรับตัวลดลง แต่ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายสินค้า บริการ ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ธุรกิจนี้ยังคงมีความต้องการแรงงานเป็นอันดับแรก ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 22.9%

    2. บริการ 44,750 อัตรา ความต้องการแรงงานในธุรกิจประเภทนี้จะเป็นธุรกิจบริการที่นอกเหนือจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยว  เช่น ธุรกิจบริการทำความสะอาด ธุรกิจบริการด้านระบบ ธุรกิจบริการฝึกอบรม

    3. ก่อสร้าง 41,353 อัตรา อุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ แม้ภาพรวมจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่การก่อสร้างโครงการภาครัฐยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคม เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสนามบิน โครงการท่าเรือ โครงการมอเตอร์เวย์

    4. ยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 39,883 อัตรา การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศและการส่งออกชะลอตัวลง รวมทั้งยังกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าความต้องการแรงงานลดลงถึง 31.8%

    5. ค้าปลีก 37,482 อัตรา ธุรกิจค้าปลีกมีผลกระทบค่อนข้างมาก ยกเว้นสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น อาหารและของใช้ส่วนตัว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ยังคงมีความต้องการแรงงาน

    ประเภทธุรกิจที่มีความต้องการน้อยที่สุด

    1. ธุรกิจท่องเที่ยว 1,690 อัตรา การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวลงอย่างรุนแรง ประเทศไทยที่มีประกาศใช้มาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งความต้องการแรงงานในธุรกิจนี้ลดลงถึง 65.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

    2. ธุรกิจความบันเทิง 2,075 อัตรา ผลกระทบจากการประกาศปิดสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ประกอบกับมาตรการควบคุมโรค โดยห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคน รวมถึง การถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ โฆษณา

    3. ธุรกิจกระดาษ/เครื่องเขียน 2,200 อัตรา ธุรกิจกระดาษที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อสิ่งพิมพ์มีความต้องการลดลง ส่วนธุรกิจกระดาษที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แม้มีความต้องการใช้เติบโตขึ้น แต่โดยภาพรวมจะเห็นว่าธุรกิจนี้อยู่ในกลุ่มที่มีความความต้องการแรงงานน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ

    4. ธุรกิจโรงแรม/Resort/Spa/สนามกอล์ฟ 2,820 อัตรา มาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่กลุ่มนี้ ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีการจ้างงานลดมากที่สุด โดยลดลงถึง 75.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

    5. ธุรกิจอัญมณี/เครื่องประดับ 3,092 อัตรา การผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับปรับตัวลดลง เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสองธุรกิจที่สภาอุตสาหกรรมประเมินว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก

    องค์กรชะลอการรับสมัครงานในช่วงเดือนเมษายนลดลงถึง 18.6%

    ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ก่อนช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มการจ้างงานที่สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเดือนมกราคม มีการเปิดรับ 119,122 เพิ่มขึ้น 8.7% จากธันวาคม 2562 ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ มีอัตราการเปิดรับ 124,629 เพิ่มขึ้น 4.6% ส่วนในช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเดือนมีนาคมและเมษายน มีการออกมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ทำให้หลายสถานประกอบการจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว ส่งผลให้ทำให้ความต้องการแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม มีอัตราการเปิดรับสมัครเพียง 112,220 ลดลง 10.0% จากเดือนกุมภาพันธ์ 63 และลดลงหนักสุดในเดือนเมษายน มีอัตราการเปิดรับสมัครแค่ 91,382 ลดลงถึง 18.6% จากเดือนมีนาคม  63 ในส่วนเดือนพฤษภาคม มีการเปิดรับสมัคร 86,966 ลดลง 4.8% จากเดือนเมษายน เดือนมิถุนายน อัตราที่เปิดรับ 90,347 เพิ่มขึ้น 3.9% จากพฤษภาคม 2563

    สายงาน Freelance/สาธารณสุข มีการเปิดรับสมัครมากขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฟื้นตัวดีขึ้น

    นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านตลาดแรงงานมีความผันผวนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ คนทำงานเองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงานยุคนี้ สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานจากนี้ไปคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเราดูสถิติช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พบว่า สายอาชีพที่มีแน้วโน้มเปิดรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ Freelance, อาจารย์/ครู, แพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุข สำหรับการหางานสมัครงานในจ๊อบไทยมีการเติบโตขึ้นมาก