Tuesday, December 6, 2022
More

    คาดธุรกรรมชำระเงินเรียลไทม์ของไทย ดีดตัวถึง 12.5 พันล้านดอลลาร์ ปี 67

    ACI Worldwide เผยรายงานเศรษฐกิจบริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)

    SEA ภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตเร็วที่สุดในโลก

    เริ่มจากธุรกิจธนาคารและการเงินระดับโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) นับเป็นภูมิภาคที่สำคัญในแง่ของการสร้างสรรค์นวัตกรรม และโอกาสการเติบโตบริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจออนไลน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มที่จะเติบโต 3 เท่าภายในปี 2568 และจะมีมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์


    จึงนับเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตเร็วที่สุดในโลก และหากพิจารณาว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียว ก็จะถือเป็นหนึ่งใน 5 เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก

    ผู้บริโภคคือปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ SEA พัฒนาไปสู่การสร้างระบบเครือข่ายแบบเรียลไทม์

    ภาพรวมบริการชำระเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังวิกฤตโควิด-19 ถึงแม้ว่าภูมิภาคนี้ไม่มีกฎระเบียบที่สอดคล้องกันอีกทั้งแต่ละประเทศก็มีการจัดลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันจึงเห็นได้ชัดว่าความต้องการขององค์กรธุรกิจและผู้บริโภคคือปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พัฒนาไปสู่การสร้างระบบเครือข่ายแบบเรียลไทม์ที่ครอบคลุมหลายประเทศระบบชำระเงินที่ดำเนินการแบบทันทีไร้รอยต่อและสอดคล้องตามมาตรฐาน

    ซึ่งจะช่วยรองรับกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจภายในภูมิภาค โดยมีต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า และจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว โดยหลาย ๆ ภาคส่วนเริ่มเปลี่ยนมุมมอง และทัศนคติที่มีต่อระบบชำระเงินดิจิทัล เฉพาะอย่างยิ่งมีความสนใจเพิ่มมากขึ้นต่อการชำระเงินแบบ “touchless (ไร้สัมผัส)” ที่ช่วยรองรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

    ไทยติดประเทศผู้นำบริการเสริมดิจิทัลพร้อมเพย์แห่ง SEA

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังนับเป็นภูมิภาคที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และภาษา แต่ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายดังกล่าว ก็ยังมีบางประเทศที่เป็นผู้นำในด้านการใช้บริการเสริมดิจิทัล เช่น

    – PayNow ในสิงคโปร์

    พร้อมเพย์ (PromptPay) ในไทย

    – DuitNow ในมาเลเซีย

    โดยประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการที่ดีในเรื่องของการปรับปรุงระบบชำระเงินให้ทันสมัย นอกจากนั้นการปรับใช้มาตรฐาน ISO 20022 ยังเพิ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะช่วยรองรับการสื่อสารระหว่างเครือข่ายในประเทศ และจะเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบชำระเงินในระดับภูมิภาคให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

    คาดธุรกรรมชำระเงินเรียลไทม์ของไทย ดีดตัวถึง 12.5 พันล้านดอลลาร์ ปี 2567

    เป็นที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในแง่ของปริมาณธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ โดยคาดว่าจะเติบโตจาก 2.6 พันล้านในปี 2562 เป็น 12.5 พันล้านในปี 2567 ทั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการขยายการเข้าถึงบริการด้านการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

    รวมไปถึงบริการพร้อมเพย์ที่เปิดตัวเมื่อปี 2559 โดยบริษัท National ITMX ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ e-Payment (อีเพย์เมนต์แห่งชาติ) ซึ่งบริการดังกล่าวสามารถใช้งานผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น เอทีเอ็ม เคาน์เตอร์ธนาคาร โมบายล์แบงค์กิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง และแอปฯ ชำระเงินอื่น ๆ ทั้งยังมีการตั้งเป้าระบบพร้อมเพย์ของไทย (Thailand’s PromptPay) ที่จะพัฒนาระบบชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่สามารถใช้งานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาอีกด้วย