อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยต้องเผชิญกับสภาวะไม่แน่ไม่นอน ตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 63 ร้านค้าเจ้าของโครงการหรือผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวและอาศัยช่องทางการค้าผ่านตลาดอี–คอมเมิร์ซประคองธุรกิจให้อยู่รอด
ดัชนีภาพรวมธุรกิจค้าปลีกเดือนกรกฎาคม 63 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้มีมาตรการออกมาควบคุมการระบาดทำให้ด้านธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมากซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเป็นความท้าทายใหม่แก่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ทันตามสถานการณ์สามารถอยู่รอดได้แต่ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันจึงน่าเป็นห่วงร้านค้าปลีกต้องมีการเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจและคำนึงถึงพฤติกรรมการซื้อรูปแบบใหม่ของลูกค้า
โดยข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยเผยดัชนีการค้าปลีกในเดือน พฤษภาคม 63 ลดลงถึง 34.01% ต่อปี ปัจจัยหลักมาจากยอดขายรถยนต์และเชื้อเพลิงที่ลดลง รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงนับตั้งแต่ปี 41 อยู่ระดับ 47.2 ในเดือนเมษายน 63 แต่ในเดือนกรกฎาคม มีการปรับขึ้นเล็กน้อย ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาอยู่ที่ 50.1
เจ้าของพื้นที่การค้า–ร้านค้าปลีกเร่งปรับตัวให้เข้าต่อพฤติกรรมผู้บริโภค
หลังจากที่ธุรกิจต่างๆ กลับมาให้บริการได้ตามปกติในเดือนมิถุนายน 63 เจ้าของพื้นที่การค้าปลีกเริ่มกลับมาฟื้นฟูธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกระตุ้นกำลังซื้อผ่านกลยุทธ์การขายและในด้านการตลาดที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เช่าที่ทำสัญญาระยะยาวและระยะสั้น รวมถึงเจ้าของพื้นที่ยอมปรับเงื่อนไขการเช่าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่เพียงแต่เจ้าของพื้นที่ค้าปลีก ด้านร้านค้าปลีกมีการปรับตัวโดยใช้แพลตฟอร์มบนออนไลน์และมีแนวโน้มทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดการทบทวนว่าอาจจะลดขนาดหรือยกเลิกเช่าพื้นที่
ธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต่างเซฟคอร์สประคองธุรกิจให้รอดในปีนี้
จากการสำรวจตลาดพื้นที่ค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิก Asia Pacific Retail Flash Survey เผยให้เห็นว่า ธุรกิจอาหาร,เครื่องดื่มและร้านค้าปลีกอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การเปิดสาขาน้อยลงหรือเพิ่มสาขาเพียงไม่กี่แห่งในช่วงครึ่งหลังของปี 63 เนื่องจากผู้เช่าจะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีขนาดเล็กและขนาดกลางห้างสรรพสินค้าจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดวางผังร้านค้าและจัดส่วนผสมของผู้เช่าแต่ละประเภทรวมทั้งการพัฒนาห้างสรรพสินค้าเพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมการจับจ่าย
เชื่อว่าในอนาคตการบุกตลาดอี–คอมเมิร์ซจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือก แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้อยู่รอด อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกไทยต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เว้นแต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด เนื่องจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะที่อยู่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ต้องพึ่งพากำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติ