สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดสถานการณ์การออมเงินของคนไทยในยุคโควิด-19
คนไทยฝากเงินมากขึ้นยุคนิวนอร์มัล รวมถึงมิ.ย. 63 แตะ 80.82 ล้านราย
ต้องบอกว่าหนึ่งในการออมเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดคือ “บัญชีเงินฝาก” โดยรู้กันหรือไม่ว่าเมื่อเราเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน เราจะได้รับความคุ้มครองจาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ทันทีแบบอัตโนมัติภายใต้ข้อกำหนด ซึ่งแม้บัญชีเงินฝากจะได้ผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการออมเงินประเภทอื่น ๆ แต่สถิติย้อนหลัง พบแนวโน้มจำนวนเงินฝากมีทิศทางที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ได้เปิดเผยข้อมูลสำหรับช่วงครึ่งแรกปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่ามีจำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ. รวม 80.82 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.38% หรือราว 1.1 ล้านราย
และจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบ ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งกว่า 98% เป็นผู้ฝากรายย่อย มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท
ภาพรวมเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองมีการเติบโตขึ้นทุกปี
เริ่มจากการมองไปที่ภาพรวมเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองจะพบว่ามีการเติบโตทุกปีเฉลี่ย 4-6% แบ่งเป็น
– ปี 2560 อยู่ที่ 12.54 ล้านล้านบาท
– ปี 2561 อยู่ที่ 13.02 ล้านล้านบาท
– ปี 2562 อยู่ที่ 13.56 ล้านล้านบาท
– ปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 14.67 ล้านล้านบาท
จำนวนเงินฝากคุ้มครองปี 2560-2563
เผยจำนวนเงินฝากคุ้มครอง และอัตราการเพิ่ม–ลด เดือนม.ค.-มิ.ย 63
จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 คือปัจจัยสำคัญที่ดึงให้คนไทยหันมาฝากเงินกันมากขึ้นทั้งยังระมัดระวังการใช้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องมากขึ้นมีการกำเงินสดไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจริงๆ
รวมทั้งตลาดการเงินมีความผันผวนจากปัจจัยในประเทศ และเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้คนตัดสินใจเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มี หรือการลงทุนออมเงินในประเภทที่มีความเสี่ยงสูง ก็หันมาลงทุนในบัญชีเงินฝากที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น