Thursday, October 5, 2023
More

    Mobile Banking – e-Money อาจดันมูลค่าธุรกรรมขยายตัวถึงร้อยละ 21.7% จากปี 62

    นิวนอร์มัลอย่างหนึ่งในยุคโควิด-19 คือพฤติกรรมการโอนเงินชำระสินค้าและบริการของผู้บริโภคไทยที่เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งสู่การโอนเงินและชำระสินค้าบริการแบบไร้การสัมผัสเงินสด หรือ Contactless Payment

    สังคมไร้เงินสดเพิ่มสูงขึ้นจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการสำรวจพบว่า หลังที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งมีผู้บริโภคที่ใช้งาน Mobile Banking และ e-Wallet มากขึ้นและมีผู้บริโภคกลุ่มใหม่เข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยผู้บริโภคที่ใช้งานการโอนเงินชำระสินค้าผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงวัย 35 – 44 ปี จากเดิมที่มีการใช้งานกระจุกตัวอยู่ในช่วงวัย 25 – 34 ปีทำให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันต่อการใช้งานให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและนำมาซึ่งการแข่งขันในตลาดอย่างสูงขึ้นอีกด้วย


    บริการ Mobile Banking และ e-Money เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 63

    ในปี 63 คาดว่าธุรกรรมโอนเงินชำระสินค้าและบริการผ่าน Mobile Banking และ e-Money จะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับแรงผลักดันจากพฤติกรรม Contactless Payment แต่อัตราการเติบโตก็ชะลอลง เนื่องจากมูลค่าธุรกรรมต่อครั้งลดลง ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมีอำนาจซื้อที่น้อยลง จากภาวะทางเศรษฐกิจหดตัว ทั้งนี้ คาดว่าจะมีปริมาณธุรกรรมผ่านระบบ Mobile Banking ราว 7,758.0 – 7,927.5 ล้านรายการ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 57.5 – 61.0 ส่วนในมูลค่าธุรกรรมจะอยู่ที่ประมาณ 28,910.4 – 29,707.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.4 – 21.7 จากปี 62 ในขณะที่ปริมาณธุรกรรมการด้วยบริการ e-Money น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,990.1 – 2,038.0 ล้านรายการ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2 – 3.7 ส่วนในด้านมูลค่าจะอยู่ที่ประมาณ 286.3 – 291.1 พันล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 1.5 – 3.2

    บริการไร้เงินสดกลยุทธ์ด้านการตลาดของผู้ประกอบการในยุคใหม่

    ซึ่งในระยะข้างหน้านี้ผู้ให้บริการโอนเงินชำระสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Mobile Banking และ e-Wallet ในไทยจะมีโอกาสเติบโตขึ้น แต่ยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นของผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการ e-Wallet ซึ่งในระยะข้างหน้าจะยังเห็นการแข่งขันการทำกลยุทธ์ด้านราคาและโปรโมชั่นของกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยน่าจะเป็นการทำการตลาดที่กระตุ้นการเปิดให้บริการของกลุ่มผู้กระกอบการร้านค้า ร้านอาหารต่างๆที่หลากหลาย รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคอีกด้วย