ประเมินผลกระทบของข้าวไทยจากอิทธิพลของพายุซินลากู และพายุฮีโกสในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบยังไม่ได้รับความเสียหาย
พายุซินลากู และพายุฮีโกส ยังคงไม่ส่งผลกระทบต่อข้าวนาปีของไทย
หลังอิทธิพลของพายุซินลากู และพายุฮีโกสในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดสถานการณ์ฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายในพื้นที่หลายจังหวัดนั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดแถบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย น่าจะไม่กระทบต่อผลผลิตพืชเกษตรฤดูฝนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ซึ่งเป็นผลผลิตข้าวหลักของประเทศ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปียังไม่ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว
เมื่อผนวกกับการไหลของน้ำที่ท่วมหลาก ไม่มีการแช่ขังที่ยาวนานเกินไป และเป็นลักษณะของการไหลผ่านของน้ำ ทำให้ในภาพรวมคาดว่าผลผลิตข้าวนาปี จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของน้ำท่วมดังกล่าว
ปริมาณข้าวทั้งปี 2563 อยู่ที่ราว 29-30 ล้านตัน
ทั้งยังมีการมองว่าจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวโดยรวมทั้งปี 2563 อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้คาดว่า ปริมาณผลผลิตข้าวทั้งหมดในปี 2563 อยู่ที่ราว 29-30 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 4.3-7.5 ซึ่งการลดลงของผลผลิตข้าวมีสาเหตุสำคัญจากแรงฉุดของภัยแล้งในช่วงต้นปี ขณะที่ในแง่ของราคาข้าวทั้งปี 2563 อาจอยู่ที่ราว 11,000-11,300 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0-6.0
ความรุนแรงของพายุตลอดช่วงที่เหลือของปี 63 ยังอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปี
และมีการมองว่าในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2563 ประเทศไทยน่าจะยังได้รับอิทธิพลจากพายุเขตร้อนอยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนให้อยู่ในระดับสูง จึงยังคงต้องจับตาถึงระดับความรุนแรงของพายุที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปี
เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดบ้างแล้ว และเมื่อผนวกกับปริมาณน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือในช่วงเวลาก่อนหน้า ซึ่งน่าจะไหลผ่านมาถึงภาคกลาง จนอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีในภาคกลางได้
นอกจากนี้ ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2563 อาจต้องจับตาระดับความรุนแรงของพายุตามฤดูกาล ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ จนอาจสร้างความเสียหายต่อปริมาณผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักในภาคใต้อีกด้วย